“สมชัย” ประเมินการเลือกตั้งหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง 2 ฉบับผ่านสภาไปแล้ว ชี้มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือน ต.ค.ปีนี้ หรือทางสายกลาง กลางเดือน ธ.ค.ปีนี้ หรือช้าที่สุดในเดือน ก.พ.ปีหน้า
วันนี้ (12 มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประเมินการเลือกตั้ง หลังร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.ผ่าน สนช.แล้วว่า วันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนใดนั้น อยู่ภายใต้สมมติฐาน 3 อย่าง คือ สนช.ไม่มีการรวบรวม 25 รายชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขัดรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีสามารถนำร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ก่อนสิ้นเดือน มี.คนี้ และการประชุมร่วมระหว่าง ครม., กกต., คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.), ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กับพรรคและกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ไม่มีการเสนอจากฝ่ายพรรคและกลุ่มการเมืองว่าขอยืดเวลาออกไปเอง เนื่องจากทำอะไรสารพัดตามที่กฎหมายกำหนดไม่ทัน
นายสมชัยกล่าวว่า กรณีที่วันเลือกตั้งจะเกิดได้เร็วสุด จากองค์ประกอบนี้คือในหลวงพระราชทานกฎหมายลงมาในเวลารวดเร็ว คือประมาณ 30 วันหลังจากนายกฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย รอการบังคับใช้ 90 วันตามบทเฉพาะกาล พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งกลัวเรื่องการตีความคำว่า ต้องจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จใน 150 วัน อาจหมายรวมถึงวันประกาศผลด้วยเลยกำหนดวันเลือกตั้งภายในเวลา 90 วัน เผื่อไว้สำหรับใบเหลืองใบแดงก่อนประกาศผลอีก 60 วัน ก็จะรวมทั้งหมด 210 วัน หรือ 7 เดือน การเลือกตั้งมีโอกาสเกิดขึ้นในเดือน ต.ค. 61
ส่วนกรณีที่วันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ช้าสุด คือ ในหลวงทรงใช้เวลาที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายเต็มที่ คือ 90 วันจึงพระราชทานลงมา กกต.กำหนดวันเลือกตั้งเต็มโควตา 150 วัน โดยเห็นว่าการเลือกตั้งที่แล้วเสร็จหมายถึงการลงบัตรเท่านั้นและรอการบังคับใช้ 90 วัน ก็จะรวมทั้งหมด 330 วัน หรือ 11 เดือน การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นช้าสุดในเดือน ก.พ. 62
อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าควรเลือกสายกลาง คือ มีเวลาในการทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว 45 วัน รอการบังคับใช้ 90 วัน และ กกต.จัดการเลือกตั้งใน 120 วันรวม 255 วัน หรือ 8 เดือนครึ่ง คือกลาง ธ.ค. 61