xs
xsm
sm
md
lg

7 ป.ป.ช.เฮ ได้ต่ออายุ ตุลาการฯ ลงมติเอกฉันท์ ร่างกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ขัด รธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเอกฉันท์ มาตรา 185 ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ส่งผล 7 กรรมการ ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ

วันนี้ (9 มี.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ข่าวผลการพิจารณาคำร้องกรณีประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่งความเห็นของสมาชิก สนช. จำนวน 32 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 267 วรรคห้า มาตรา 81 มาตรา 145 และมาตรา 263 ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... มาตรา 185 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผลการพิจารณา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือพร้อมแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมและที่ประชุมปรึกษาหารือร่วมกันก่อนแล้วลงมติว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผลการลงมติปรากฏว่า ศาลโดยมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... มาตรา 185 ในส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาใช้บังคับ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... มาตรา 185 นั้น บัญญัติว่าให้ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายนี้ใช้บังคับ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 19 เว้นแต่กรณีตามมาตรา 19 (3) ในส่วนที่เกี่ยวกับการขาดคุณสมบัติ ตามมาตรา 9 และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18 ) มิให้นำมาใช้บังคับ

ทั้งนี้ สนช. จำนวนหนึ่งเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว อาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... เป็นกฎหมายลูก แต่กลับมีบทบัญญัติที่ให้งดเว้นการใช้บังคับบางมาตราในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ได้ จึงเข้าชื่อกันเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 185 ดังกล่าว ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้กรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันจำนวน 7 คน ที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้จนครบวาระ 9 ปี ตามกฎหมาย ป.ป.ช. เดิม

ทั้งนี้ กรรมการ ป.ป.ช. 7 คนที่ได้รับการต่ออายุ ประกอบด้วย 1. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อปี 2557 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี 2. นายปรีชา เลิศกมลมาศ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 และรับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี 3. พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี 4. นายณรงค์ รัฐอมฤต อดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2553 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

5. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีต ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2552 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2557 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี 6. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในปี 2557 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2558 พ้นจากการดำรงตำแหน่งน้อยกว่า 10 ปี และ 7. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต ผอ.สำนักงบประมาณ กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2554 รับตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ถึง 5 ปี

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยังสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ แม้จะมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น