“บิ๊กตู่” แก้วิกฤติอี-พาสปอร์ต ระยะที่ 3 มูลค่า 1.24 หมื่นล้าน สั่ง “บัวแก้ว” เร่งนำร่างทีโออาร์การจัดจ้างผลิตฉบับใหม่ ชงบอร์ดจัดซื้อจัดจ้างชุดใหญ่พิจารณาโดยด่วนก่อนดำเนินการประมูลหรือดำเนินการอย่างอื่นต่อ เผยบอร์ด กต.ไฟเขียวแก้ทีโออาร์แล้ว เหตุเอกชนเข้ายื่นขอให้ทบทวนร่างทีโออาร์ในการประกวดอี-บิดดิ้ง หลังพบระยะเวลาประกาศประชาพิจารณ์และกำหนดการของการประกวดราคากระชั้นชิดมากเกินไป เผยล่าสุด มี 5-7 บริษัทแสดงความสนใจจะยื่นประกวดราคา
วันนี้ (9 มี.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งในการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งนำเรื่องเกี่ยวกับการจัดจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 (E-PASSPORT PHASE 3) เสนอคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ พิจารณาโดยด่วนก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ โครงการจัดจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ระยะที่ 3 กำหนดวงเงินงบประมาณไว้ 15,000,000 เล่ม หรือภายใน 7 ปี แล้วแต่กรณีใดจะถึงก่อน มีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ กำหนดวงเงินงบประมาณ 12,450,000,000 บาท โดยกำหนดราคากลาง เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2561 เป็นเงิน 12,438,750,000 บาท หรือราคา 829.25 บาท ต่อเล่มหนังสือเดินทาง ระบุแหล่งที่มาของราคากลาง ใช้ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งล่าสุด ภายในระยะเวลา 2 ปี งบประมาณตาสัญญาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ 176/2556 ลงวันที่ 10 ต.ค. 2555 มีชื่อผู้กำหนดราคากลาง ประกอบด้วย นายภาสกร ศิริยะพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกรรมการ
มีรายงารว่า เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้แทนบริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด ที่เตรียมเข้าประมูล (อี-พาสปอร์ต) ระยะที่ 3 เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ มีใจความว่า ขอให้ทบทวนร่างเอกสารข้อกำหนด (ทีโออาร์) ในการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง) ในโครงการประกวดราคาจ้างผลิตและให้บริการจัดทำอี-พาสปอร์ต ระยะที่ 3 เนื่องจากระยะเวลาประกาศประชาพิจารณ์และกำหนดการของการประกวดราคากระชั้นชิดมากเกินไป
“บริษัทฯ ไม่สบายใจต่อการเข้าประมูลงานดังกล่าว เพราะการกำหนดทีโออาร์ของกระทรวงการต่างประเทศให้ระยะเวลาที่สั้นมาก ทั้งที่การทำอี-พาสปอร์ตต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะเป็นเรื่องเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยชั้นสูงและมีความซับซ้อน รวมถึงต้องใช้ความรู้ด้านเทคนิคจากผู้ผลิตต่างประเทศ อีกทั้งมีการออกเอกสารทีโออาร์เป็นภาษาไทย ทำให้ต้องใช้เวลาในการแปลเอกสารด้วย เนื่องจากบริษัทฯ มีบริษัทต่างประเทศมาเป็นหุ้นส่วนด้วย”
นอกจากนี้ ระยะเวลาเตรียมระบบการทดสอบสาธิตประสิทธิภาพและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของการผลิตและการให้บริการ (เบนช์มาร์ก เทสต์) ในเวลาไม่ถึง 2 เดือน ทั้งที่ทีโออาร์ระบุว่าระยะเวลาในการทำงานจริงเป็น 9 เดือน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาระบบให้พร้อมทดสอบเสร็จในเวลา 2 เดือน และให้เวลาในการเตรียมระบบเพื่อทดสอบ 3 วัน ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทที่มีระบบพร้อมทำงานอยู่แล้ว
“หลักเกณฑ์การให้คะแนนนั้น ในทีโออาร์กำหนดคะแนนการทดสอบเบนช์มาร์ค เทสต์ มากกว่าคะแนนด้านการออกแบบระบบความปลอดภัยและการเก็บฐานข้อมูล จึงขอให้ปรับสัดส่วนการให้คะแนนดังกล่าว มิฉะนั้นอาจทำให้บริษัทยื่นข้อเสนอรายหนึ่งที่เคยได้ทำงานตามกระบวนการของการให้บริการจัดทำพาสปอร์ตมาก่อน ได้เปรียบผู้เสนอราคารายอื่นที่ไม่เคยได้ทำงานนี้มาก่อน ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการทดสอบระบบในครั้งนี้”
หนังสือร้องเรียนระบุต่อว่า เราจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงการต่างประเทศทบทวนทีโออาร์ของโครงการนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทรายอื่นๆ ได้ยื่นข้อเสนอที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และได้มีโอกาสได้เข้ามาแข่งขันยื่นข้อเสนออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อให้ได้ระบบการทำพาสปอร์ตที่ดีที่สุด แต่หากไม่มีการปรับทีโออาร์ใดๆ อาจเอื้อให้มีผู้ที่เข้าข่ายผ่านการทดสอบทั้งหมดเพียงรายเดียว จนนำไปสู่การต่อรองการจัดซื้อจัดจ้างพาสปอร์ตอีกครั้ง
ด้านนายดอนระบุว่า เราตั้งใจทำให้โครงการนี้มีความโปร่งใส ชัดเจน และให้ผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมการประมูลมากที่สุด โดยในการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.ที่ผ่านมา มีมติขยายกรอบเวลากระบวนการประมูลราคาดังกล่าวออกไป 1 เดือน แต่ต้องลดทอนช่วงเวลาของผู้ที่ชนะการประมูลใช้ในการเตรียมตัวขึ้นระบบงาน ทั้งนี้ตนได้สั่งการให้มีการออกข่าวเพื่อให้สื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบทุกขั้นตอน
ส่วนกรณีที่บริษัทนี้ขอให้แก้การให้คะแนน เพราะคะแนนการทดสอบการทดสอบสาธิตประสิทธิภาพและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของการผลิตและการให้บริการ มีมากกว่าคะแนนการออกแบบระบบความปลอดภัยนั้น
“ดังนั้น อัตราส่วนคะแนน 60-40 ไม่ถือว่ามากเกินไป และความสำคัญอยู่ที่ประสิทธิภาพของการทำงานซึ่งเราให้น้ำหนักคะแนนเต็ม 60 คะแนน การที่เราให้ความสำคัญตรงนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีการปลอมแปลงหรือเกิดจุดอ่อนในส่วนใดๆ ขณะเดียวกัน เรามีทีมงานตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสในทุกขั้นตอนของโครงการตลอดเวลา”
มีรายงานจากที่ประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงว่า ผู้บริหาร กต.แสดงความกังวลต่อประชาพิจารณ์ จึงเห็นชอบการแก้ร่างทีโออาร์ตามที่กรมการกงสุลเสนอ เช่น ด้านคุณสมบัติของบริษัท การไม่ต้องแปลผลงานเป็นภาษาไทย การขยายเวลาวันเสนอราคาและวันยื่นข้อเสนอซึ่งจากเดิมวันที่ 20 เม.ย. 2561 เป็นวันที่ 24 พ.ค. และ 25 พ.ค. 2561 ตามลำดับ จะทำให้บริษัทที่จะเข้าร่วมประมูล มีเวลาเตรียมตัวเพิ่มอีก 1 เดือน ส่งผลให้ต้องปรับลดช่วงเวลาพัฒนาระบบจาก 9 เดือน เป็น 8 เดือน แต่ยังอยู่ในวิสัยที่บริษัทที่มีประสบการณ์หรือเชี่ยวชาญจะทำได้ อีกทั้งให้เผยแพร่ทีโออาร์ฉบับแก้ไขสำหรับการประกาศเชิญประกวดราคา จากวันที่ 27 ก.พ. - 19 เม.ย. 2561 เป็นวันที่ 12 มี.ค. - 23 พ.ค. 2561 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ทราบว่ามีบริษัทที่คาดว่าสนใจจะยื่นข้อเสนอ 5-7 ราย
ขณะที่กระบวนการสาธิตประสิทธิภาพ ที่ประชุมกำชับให้กรมการกงสุลจัดทำเอกสารรายละเอียดทางเทคนิคอย่างครบถ้วน เพื่อเป็นมาตรฐานให้บริษัทที่ยื่นข้อเสนอทุกรายรับทราบข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางเทคนิคอย่างเท่าเทียมกันสำหรับเตรียมตัวเข้าการทดสอบนี้ รวมถึงการพิจารณาตัดสินผลการสาธิตต้องมีความโปร่งใส สามารถอธิบายได้ และมีผู้แทนจากหน่วยงานภายในเข้าร่วม
ทั้งนี้ บริษัทผู้ยื่นข้อเสนอและยื่นเสนอราคาในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์ (ระบบ e-GP) ทั้งหมดจะสามารถเข้าสาธิตได้ โดยจะต้องผ่านการพิจารณา 2 ส่วน คือ 1. ผลการสาธิตทดสอบประสิทธิภาพที่เน้นความสามารถดำเนินการทางเทคนิค 2. การพิจารณาคุณสมบัติตามทีโออาร์ ซึ่งจะมีคณะกรรมการคนละคณะกัน สำหรับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการทั้งหมดให้ทันเงื่อนเวลา มีความโปร่งใส และสามารถอธิบายได้
มีรายงานว่า สำหรับร่างขอบเขตงาน (TOR) บนเว็บไซต์กระทรวง ที่กระทรวงการต่างประเทศได้เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งหากนับถึงวันเสนอราคาในวันที่ 20 เมษายน 2561 มีระยะกว่า 2 เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลามากกว่าที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ว่าตั้งแต่วันเผยแพร่เอกสารประกวดราคาจนถึงวันเสนอราคาต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วันทำการ
ขณะที่ กระบวนการทดสอบสาธิต (benchmark test) ในวันที่ 26 -27เมษายน 2561 ซึ่งเป็นกระบวนการหลักเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของผู้เสนอราคา เป็นกระบวนการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งโดยปกติผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญในงานด้านหนังสือเดินทางชั้นนำ (ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายรายทั่วโลก รวมถึงผู้ประกอบการของไทยด้วยและเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อเชิญชวนให้เข้าร่วมการประกวดราคา) พึงมีอยู่แล้ว มิได้เป็นการทดสอบผู้เสนอราคาด้วยการให้สร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมทางสารสนเทศขึ้นใหม่หมดแต่อย่างใด นอกจากนี้ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ต้องจัดทำการสาธิตภายใน 5 วันทำการ นับถัดจากวันเสนอราคา (20 เมษายน 2561)
อนึ่ง โดยที่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในกำหนดการปัจจุบันจะเสร็จสิ้นลงและกระทรวงการต่างประเทศจะต้องลงนามกับผู้ชนะการประกวดราคาภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 เพื่อให้มีระยะเวลาที่เหลืออยู่ (ประมาณ 9 เดือน) สำหรับเตรียมการขึ้นระบบงานหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ระยะที่ 3 โดยมีกำหนดเริ่มโครงการในวันที่ 1 มีนาคม 2562 เมื่อสัญญาช่วงเปลี่ยนผ่านโครงการสิ้นสุดลง ดังนั้น การขยายระยะเวลาของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างออกไป อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการขึ้นโครงการที่จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันในกรอบเวลาดังกล่าว อันจะส่งผลกระทบต่องานหนังสือเดินทางซึ่งเป็นบริการสาธารณะและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนในที่สุด
ทั้งนี้ การดำเนินการโครงการนี้ได้ดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับเรื่องความโปร่งใส โดยได้จัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อยู่ภายใต้การตรวจสอบของคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง