แต่หัววัน! “บิ๊กตู่” สั่งกลาโหมเป็นหัวหอกร่วม กต.-มหาดไทย จัดหาสถานที่จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2565 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ เน้นการออกแบบ/ขนาดห้องประชุม/อาคารประกอบที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า แสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทย เผย 16 ปีที่แล้ว ไทยใช้งบกว่า 5 พันล้าน จัดประชุม APEC 2003 เฉพาะสถานที่ประชุม “กองทัพเรือ” ได้งบกว่า 500 ล้าน ปรับปรุงอาคารราชนาวิกสภามาแล้ว
วันนี้ (5 มี.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) ให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เร่งรัดการดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ที่จะใข้สำหรับการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders Meeting) ในปี 2565 (APEC 2022) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยให้คำนึงถึงการออกแบบ และการกำหนดขนาดของห้องประชุม รวมทั้งอาคารประกอบที่ใช้ประโยขน์ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และแสดงถึงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของไทยด้วย
“ในที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 ก.พ. นายกฯ สั่งการไปแล้วต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเจ้าภาพหลัก ให้จัดหาสถานที่เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย”
มีรายงานว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ในปี 2565 หรือ APEC 2022 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ จะนับเป็นครั้งที่ 31 หลังจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพมาแล้ว เมื่อปี 2546 หรือ ค.ศ. 2003 โดยสถานที่จัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ อย่างไม่เป็นทางการของผู้นำเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 11 ครั้งนั้น จัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และมีการจัดงานกาล่าดินเนอร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้นำเอเปกและคู่สมรส 21 เขตเศรษฐกิจ ณ อาคารราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ
“มีการจัดแสดงกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคจำลอง ในตอนค่ำ พร้อมกับการแสดงแสงสีเสียง และสื่อผสมเส้นทางกระบวนเรือ โดยเริ่มจากท่าวาสุกรีผ่านสะพานพระราม 8 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ราชนาวิกสภา หอประชุมกองทัพเรือ ขณะที่เครื่องแต่งกายที่ระลึกสำหรับผู้นำเอเปก เป็นชุดซาฟารี โดยเป็นเสื้อทรงพระราชทานที่ทอจากผ้าไหมยกทองจากสุรินทร์ลายสัตว์หิมพานต์ รวมทั้งมีของื้ระลึกสำหรับผู้นำฯ และคู่สมรส อันประกอบไปด้วยเข็มกลัดรูปเรือสุพรรณหงส์ทองคำ 18 เค ฝังทับทิมล้อมเพชร ผ้าคลุมไหล่ทอจากผ้าไหมยกทอง และเครื่องเบญจรงค์ชุดใหญ่ลวดลายเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (ลายหลุยส์) ประกอบอักษรชื่อย่อ พร้อมสีดอกไม้กลางจานตามสีวันเกิดของผู้นำแต่ละประเทศ ผลิตจากโรงงานปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ของวิรัตน์ ปิ่นสุวรรณ ศิลปินดีเด่นด้านวัฒนธรรมชาวบางช้างอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม”
ขณะที่เมนูขึ้นโต๊ะผู้นำในครั้งนั้นเป็นอาหารไทยที่ถูกคัดสรรมาเป็นอย่างดี เช่น อาหารคาว : ต้มยำกุ้ง ยำส้มโอ หมี่กรอบ กุ้งทอดกระเทียมพริกไทย เนื้อย่างจิ้มแจ่ว ทอดมันปลา ไข่เค็ม อาหารว่าง : กระทงทอง ปั้นสิบ กุ้งโสร่ง และอาหารหวาน : วุ้นมะพร้าวอ่อน สังขยา ฟักทอง ลูกชุบ ผลไม้สด ชา-กาแฟ
มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลสมัยนั้น ใช้งบประมาณจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อปี 2546 หรือ ค.ศ. 2003 โดย มีมติ ครม. (23 เม.ย. 2545) มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารกองทัพเรือ เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมเอเปก 2003 ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ได้ในวงเงินไม่เกิน 499,500,000 บาท โดยให้ดำเนินการในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2545-2546 ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 ให้ใช้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 179,450,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือให้ผูกพันงบประมาณปี พ.ศ. 2546 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค 2003 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้กองทัพเรือเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จทันกำหนดการประชุม
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีช่วงนั้นเห็นว่าอาคารดังกล่าวเมื่อเสร็จภารกิจในครั้งนี้แล้ว ควรดำเนินการในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดโอกาสให้ภาคราชการและเอกชนได้เช่าสถานที่ดังกล่าวได้ด้วย และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับปรุงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ ได้มอบให้รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น (นายเดช บุญ-หลง) ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า รับเรื่องการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารของกองทัพเรือ เพื่อสนับสนุนการจัดการประชุมเอเปก 2003 ไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยการใช้งบประมาณที่แท้จริง โดยมีการประเมินว่า ปี 2546 ในจัดประชุมเอเปก ไทยใช้เงินไปทั้งสิ้นราว 5,000 ล้านบาท โดยงบประมาณกว่า 2,083.71 ล้านบาท ส่วนค่าปรับปรุงตกแต่งสถานที่ต่างๆ เช่น งบที่จัดให้กองทัพเรือกว่า 500 ล้านบาท
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้กระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาคัดเลือกบทเพลงที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นเพลงในการนำเสนอในเวทีหรือการจัดนิทรรศการระดับนานาชาติ ทั้งที่จัดในประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อแสดงความเป็นไทย
“นายกฯ เห็นว่าประเทศไทยควรมีเพลงที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ไทย เพื่อนำเสนอในเวทีหรือการจัดนิทรรศการ ระดับนานาชาติ เพราะที่ผ่านมามีการนำเสนอเพลงรำวง เช่น เพลงลอยกระทง เป็นต้น จึงอาจต้องการให้เผยแพร่เพลงใหม่ๆ”