“ธีระชัย” แนะ “ดวงตาเห็นธรรม” จากคดี “เสี่ยเปรมชัย” ฆ่าเสือดำ ระบุความผิดปกติหลายอย่างของระดับบิ๊กตำรวจที่คุมสำนวน ก่อนสรุปตบท้ายตราบใดที่รัฐบาล คสช.ไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ถ่วงดุลการทำงาน ตร. ก็ไม่ต่างจากคดี “นายพลโรเล็กซ์” ที่ส่อลอยนวล และถูกตั้งคำถามเรื่องเลือกปฏิบัติ-ไม่เป็นธรรม
วันนี้ (5 มี.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กโดยชี้ให้เห็นว่าตราบใดที่รัฐบาล คสช.ไม่ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ถ่วงดุลการทำงานของตำรวจก็จะทำให้ถูกตั้งคำถามว่ารัฐจะปฏิบัติต่อประชาชนที่ถูกกล่าวหาเสมอภาคโดยไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่ พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นว่ากรณีของนายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ก็ไม่ได้ต่างจากกรณีของ “นายพลโรเล็กซ์”
“มีคนพยายามเผยแพร่ว่า สังคมไทยไม่ควรไปเน้นการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้คุมสำนวน ตัดข้อหาทารุณกรรมสัตว์ออกไป เพราะความผิดตามกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่านั้น มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว
จึงเห็นว่า การที่โซเชียลมีเดียแชร์กระหน่ำเรื่องทารุณกรรม เป็นเรื่องของดรามา
คิดแบบนี้ สายตามองไม่เห็นธรรมครับ
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่กฎหมายใดมีโทษสูงกว่ากัน หรือการตัดความผิดตามกฎหมายทารุณกรรมสัตว์ ก็ยังมีความผิดอื่นๆ อยู่อีกหลายกระทง แต่คนทั่วไปมอง ดังนี้
1. การที่เจ้าหน้าที่กรมอุทยานไปร้องทุกข์ความผิดทารุณกรรม เพื่อให้ความผิดครบถ้วน เป็นเรื่องปกติ และร้อยเวรเห็นว่าเป็นพนักงานของรัฐผู้มีหน้าที่ จึงรับคำร้องไว้ ก็เป็นเรื่องปกติ
2. กฎหมายทารุณกรรมนั้น เดิมก่อนปี 2557 มีประกาศรัฐมนตรีที่ครอบคลุมเสือดำ แต่หลังจากแก้ไขกฎหมายในปี 2557 รัฐมนตรีก็เพิกเฉยไม่ออกประกาศ ทำให้เป็นรูโหว่
ถึงแม้เป็นความผิดตามกฎหมายเดิม แต่ยังไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายใหม่ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่กรมอุทยานทราบประเด็นเทคนิกดังกล่าว ก็ไปถอนคำร้อง ก็เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน
3. แต่การที่ตำรวจผู้คุมสำนวนพยายามอัดเจ้าหน้าที่กรมอุทยานซ้ำแล้วซ้ำอีกนั้น ไม่เป็นเรื่องปกติ ตั้งแต่ข้อหาไม่เก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยาน ข้อหารับสินบนเป็นไฟฉายกระจอก และเรียกมาสอบเครียดอย่างหนักแทนที่จะสอบผู้ต้องหา
นอกจากนี้ การเน้นกับสื่อมวลชนว่า ผู้ต้องหาแวะซื้อของจากร้านอาหารป่า ก็ชวนให้สงสัยว่า เป็นการตั้งแท่นเพื่อจะเปิดให้ผู้ต้องหาสามารถบิดเบือนได้ว่า ซากสัตว์ที่พบนั่น เป็นของที่ซื้อไปจากร้านอาหาร หรือไม่?
4. เรื่องที่ไม่ปกติอย่างหนัก ก็คือการให้ข้อมูลแก่สื่อ มีนัยเป็นการขู่ว่า จะเอาผิดแก่ผู้ที่ร้องทุกข์ข้อหาทารุณกรรม และต่อมาเมื่อไม่สามารถเอาผิดผู้ร้องทุกข์ได้ ก็เอาผิดร้อยเวรลูกน้องของตนเองแทน
5. และอากัปกิริยา เหตุการณ์เมื่อพบต่อหน้าผู้ต้องหา ที่เมื่อดูคลิปแล้วเห็นชัดเจนว่า ไม่ใช่การรับไหว้จากผู้ต้องหา แต่เป็นการไหว้ตอบอย่างนอบน้อม ย่อมสงสัยได้ว่าเป็นกระบวนการแสดงจุดยืนลึกในใจไปให้แก่ลูกน้องและะทีมงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจว่า-นี่คนของกูนะเว้ย หรือไม่? และเป็นการแสดงแก่ผู้ต้องหาว่า-กูพยายามช่วยมึงทุกรูปแบบแล้วนะเว้ย หรือไม่?
สังคมโซเชียลมีเดียนั้นชอบดรามาเป็นเรื่องปกติ และสมัยนี้คนก็ดูทีวีน้อยลง ดูโซเชียลมีเดียแทนมากขึ้น ดังนั้น เรื่องดราม่าในโซเชียลต้องขายดีเป็นแน่แท้ เป็นเรื่องปกติ
แต่การที่สังคมตระหนักว่า เรื่องเสือดำมันใหญ่กว่าทุ่งนเรศวรมากมายนัก ...
มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องการล่าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย หรือการทารุณสัตว์ ...
แต่เป็นภาพสะท้อนรัฐบาล คสช.ที่ไม่ได้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ไม่ถ่วงดุลการทำงานของตำรวจ ไม่ใส่ใจการโยนบาปให้ร้อยเวร ไม่สนใจป้องปรามกระบวนการช่วยเหลือผู้ต้องหา ทั้งโดยทีท่า และโดยการใช้อำนาจในมือ ...
และทำให้ประชาชนตั้งคำถามว่า รัฐจะปฏิบัติต่อประชาชนที่ถูกกล่าวหาแบบนี้ เสมอภาคทุกคนหรือไม่? ...
เรื่องนี้ จึงไม่แตกต่างจากกรณีนายพลโรเล็กซ์
และร้อนถึงเจ้าหน้าที่ต้องรีบเร่งไปลบภาพกราฟฟิตี้ ดังที่โพสต์ทูเดย์รายงาน”