xs
xsm
sm
md
lg

“พิชาย” กังขา สนช.โหวตคว่ำ กกต.สัญญาณแปลก ชี้ถ้าไม่ยื้ออำนาจก็ขัดแย้งกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต(ภาพจากแฟ้ม)
นักวิชาการชี้ สนช.โหวตคว่ำ กกต.ยกกระบิ เชื่อกลุ่มผู้มีอำนาจนำเดิมประสงค์ยืดการเลือกตั้งออกไป แม้จะอ้างว่า กกต.เดิมทำได้ก็ไม่กล้าทำ ไม่อย่างงนั้นก็ขัดแย้งระหว่างอำนาจเดิม กับอำนาจใหม่สายข้าราชการ

วันนี้ (23 ก.พ.) เฟซบุ๊ก “พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ของ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์บทความในหัวข้อ “สัญญาณแปลกๆ” หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติไม่เห็นชอบผู้เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 7 คน ระบุว่า

“การลงมติไม่รับรอง กกต.ยกชุดทั้ง ๗ คน ของ สนช. เป็นสัญญาณแปลกๆ ของการเมืองไทย ผู้สมัคร กกต.เกือบทุกคนที่ผ่านกระบวนการสรรหา ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ฝ่ายอำนาจรัฐปัจจุบันสนับสนุน สนช.เกือบทั้งหมดก็เป็นกลุ่มที่อำนาจรัฐปัจจุบันสนับสนุนและตั้งมากับมือ ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของกลุ่มนั้น

ทำไม สนช.จึงลงมติคว่ำ ผู้สมัคร กกต.ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจ

เหตุผลที่ สนช.พยายามแจงต่อสาธารณะ ฟังดูแล้วล้วนแฝงด้วยปัญหาทั้งสิ้น ทั้งด้านกระบวนการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ที่ระบุว่าอาจมีปัญหาเรื่องกระบวนการลงคะแนนที่อาจขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ประเด็นนี้ สนช.ได้ถามไปทางศาลฎีกาแล้ว ซึ่งคำตอบกลับมาคือ กระบวนการเลือกตั้งทำอย่างถูกต้อง

เมื่อ สนช.ลงมติคว่ำ ก็แปลว่า สนช.ไม่เชื่อคำชี้แจงของศาลฎีกา และลงมติหักหน้าที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ท่าทีของศาลฎีกาจะตอบสนองเรื่องนี้อย่างไรน่าติดตามครับ

และด้านที่มาจากกรรมการสรรหา เมื่อ สนช.ลงมติคว่ำบุคคลทั้งหมดที่คณะกรรมการสรรหาเลือกเฟ้นมา โดยอ้างว่าบุคคลทั้งหมดขาดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ก็แปลว่า กรรมการสรรหาอาจไม่มีวิจารญาณที่ดีพอ จึงเลือกคนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมมาให้ สนช.รับรอง

ทำให้ สนช.ปฏิเสธคนเหล่านั้นทั้งหมด โดยไม่เกรงใจและไม่ไว้หน้าคณะกรรมการสรรหา

คำถามคือ กรรมการสรรหาจะรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้อย่างไร และจะยังอาจหาญทำหน้าที่สรรหารอบสองต่อไปหรือไม่

แต่หากยกเหตุผลทั้งสองที่ สนช.อ้าง เอาไว้ข้างๆ ก่อน และลองพิจารณาในเรื่องอำนาจ จะพบว่ามีความเป็นไปได้อีกสองทาง คือ ทางแรก กลุ่มผู้มีอำนาจนำเดิมประสงค์ยืดการเลือกตั้งออกไป จึงสั่ง สนช.ให้มีมติคว่ำ เพื่อถ่วงเวลาการมี กกต.ให้นานที่สุด แต่บางคนอาจแย้งว่า การจัดเลือกตั้งไม่น่ามีปัญหา แม้ไม่มี กกต.ชุดใหม่ เพราะ กกต.ชุดปัจจุบันทำหน้าที่แทนจนกว่าจะมี กกต.ใหม่ และ กกต.ชุดเก่าก็สามารถทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งได้

แต่ปัญหามีแน่ นั่นคือ กกต.ชุดปัจจุบันอาจไม่กล้าทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง เพราะการตัดสินใจใดๆ จะมีผลผูกพันในอนาคต อาจต้องเดินมาขึ้นโรงขึ้นศาลทั้งที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว จึงมีความเป็นไปได้ว่า กกต.ชุดปัจจุบันบางคนอาจลาออก ก่อนจะมี กกต.ชุดใหม่ และหาก กกต.ลาออก จนเหลือสามคน ก็จะขาดองค์ประกอบการเป็นองค์คณะ ประชุมไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เรื่องยุ่งเข้าไปอีกและไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้

คสช.อาจจะใช้มาตรา ๔๔ ตั้งคนเข้ามาเป็น กกต.เสียเลยให้รู้แล้วรู้รอด แต่ก็ไม่น่าจะได้เพราะ การสรรหา กกต.ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ยกเว้นเสียแต่ว่า อำนาจ คสช.และ มาตรา ๔๔ อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

เมื่อเลือกตั้งไม่ได้ รัฐบาล คสช. และสนช. ก็อยู่ไปเรื่อยๆ เวลาอยู่ในอำนาจก็จะนานขึ้นตามความปรารถนา

ทางที่ 2 เกิดความขัดแย้งกันในกลุ่มอำนาจนำ ซึ่งปัจจุบันประกอบมีสองกลุ่มหลัก คือ กลุ่มอำนาจเดิมที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบัน กับกลุ่มอำนาจนำใหม่ที่ยังอยู่ในราชการ สองกลุ่มนี้อาจขัดแย้งกัน และใช้เวทีการเลือก กกต. เป็นเวทีประลองกำลัง ผลลัพธ์ที่ออกมาแสดงว่ากลุ่มอำนาจใหม่มีอิทธิพลในเวทีสภานิติบัญญัติเหนือกว่ากลุ่มอำนาจเดิมอย่างเด็ดขาดแล้ว เพราะสามารถชี้นำให้ สนช.ส่วนใหญ่ลงมติไม่รับรองผู้สมัคร กกต.ทั้งหมดซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนของกลุ่มอำนาจเดิม

เมื่อได้รับชัยชนะในเวทีสภานิติบัญญัติแล้ว กลุ่มอำนาจใหม่อาจรุกคืบขั้นต่อไป อาจเดินหมากรุกฆาต และหากประสบชัยชนะ ก็จะเกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจในฝ่ายบริหารและภายใน คสช.ด้วย บางทีอาจเป็นภายในเดือนมีนาคมนี่แหละ เราอาจจะเห็นรัฐบาลใหม่ก็ได้

แต่การต่อสู้ยังไม่จบ หากฝ่ายอำนาจเดิมชนะ สถานการณ์ระดับรัฐบาลก็ยังคงเป็นไปเหมือนเดิม แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้นภายใน สนช. และกองทัพ เพื่อเอาคนที่ไม่ยอมอยู่ในอาณัติออกไป และเอาคนของตนเองมาควบคุมตำแหน่งสำคัญเอาไว้”




กำลังโหลดความคิดเห็น