เมืองไทย 360 องศา
เรียกว่าช็อกกันไปทั้งบางเหมือนกันกับการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โหวตคว่ำ 7 รายชื่อว่าที่กรรมการการเลือกตั้งที่ผ่านการสรรหามาแล้ว โดยถือว่าการโหวตคว่ำถือว่า “เหนือความคาดหมาย” อย่างมาก เพราะที่ผ่านมาก็ยังมองไม่เห็นสัญญาณใดๆ ว่า จะ “ไม่ผ่าน” ทำให้สังคมไปจับจ้องเอากับเรื่องการโหวตร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว. ว่า จะมีการคว่ำในสภาหรือไม่ เพื่อหวังยืดการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุด หลังจากก่อนหน้านี้ทางสภาได้แก้ไขจนทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นเวลา 90 วัน
แต่เมื่อล่าสุดวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศการันตี ว่า จะ “ไม่มีการคว่ำกฎหมายลูก 2 ฉบับอย่างเด็ดขาด” ก็ทำให้เบาใจไปเปลาะหนึ่ง ทำให้หลายคนคลายกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะไม่ถูกคว่ำ และการเลือกตั้งจะต้องไม่เลื่อนออกไปอีก
แน่นอนว่า การประกาศการันตีดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “แทรกแซง” สภาที่แยกอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ แต่พอนึกถึงความจริงที่ว่านี่ยังเป็น “ยุคเผด็จการ คสช.” และสมาชิก สนช. ทั้งหมดก็มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มันก็ย่อมถึง “บางอ้อ” รู้กันว่าอะไรเป็นอะไร “ชี้ไม้ให้เป็นนก” ยังได้เลย
แต่แล้วในวันรุ่งขึ้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็โหวตคว่ำปฏิเสธ 7 ว่าที่ กกต. ที่ผ่านการสรรหามาตามขั้นตอน รวมถึงผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามสัดส่วนมาแล้ว จากนั้นก็ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณสมบัติและความประพฤติ ด้านจริยธรรมทุกคนก็ผ่านฉลุย แม้กระทั่งกรรมาธิการสามัญที่พิจารณาคุณสมบัติของ 7 ว่าที่ กกต. ดังกล่าวก็ยังให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงแบบที่ว่า “น่าจะผ่านสะดวก” แต่เมื่อผลออกมาตรงกันข้ามพลิกผันชั่วข้ามคืนมันหมายความว่าอย่างไร
แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนก็ต้องพิจารณารายชื่อและคะแนนที่สภานิติบัญญัติ “โหวตลับ” ให้แต่ละคนดังนี้
โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 156 เห็นชอบ 27 งดออกเสียง 17
นายเรืองวิทย์ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 175 เห็นชอบ 10 งดออกเสียง 14
นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 168 เห็นชอบ 16 งดออกเสียง 16
นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 149 เห็นชอบ 30 งดออกเสียง 21
นายประชา เตรัตน์ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 125 เห็นชอบ 57 งดออกเสียง 86
นาย นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 128 เห็นชอบ 46 งดออกเสียง 26
และ นายปกรณ์ มหรรณพ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 130 เห็นชอบ 41 งดออกเสียง 29
พิจารณาจากคะแนนแต่ละคนจะเห็นว่า “คะแนนขาด” หมายความว่า “แพ้ขาด” ทุกคน ไม่มีสูสีเลยแม้แต่น้อย เห็นแค่นี้แล้วจะไม่ทำให้ผิดสังเกตได้อย่างไร
แน่นอนว่า มันช่วยไม่ได้ที่จะทำให้หลายคนสงสัยและคิดไปไกลว่านี่ต้องมี “ใบสั่ง” ให้ล้ม 7 ว่าที่
กกต. ชุดใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่าทำไมถึงต้องออกมาแบบนี้ ซึ่งหากพิจารณากันตามสาเหตุน่าจะมีอยู่สองสามสาเหตุ อย่างแรกมันช่วยไม่ได้ว่านี่คือเจตนาเพื่อ “ยืดเลือกตั้ง” ออกไปอีก เพราะเมื่อล้มรายชื่อว่าที่ กกต. ที่ว่านี่ก็ย่อมมองไปทางนั้นอยู่แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งมันดูแล้วมัน"ตื้นเขิน"เกินไป แม้ว่าอาจจะใช่ แต่น่าจะเป็นเรื่องอื่นที่"ตรงเป้ามากกว่า”
นั่นก็คือ “เพื่อรับประกันความชัวร์” มากกว่า หากพิจารณาจากรายชื่อทั้ง 7 คนแล้ว มันก็มีเสียงนินทามานานตั้งแต่ได้เห็นรายชื่อออกมาแล้ว ว่า “มีบางคนไม่น่าไว้ใจ” หรือ “มั่นใจไม่ได้เต็มร้อย” นั่นแหละ นั่นอาจเป็นที่มาของการโหวตคว่ำในวันก็เป็นได้ เคยได้ยินหรือไม่ว่า “มีบางคนเป็นเสื้อแดง” ก็มี ว่ากันถึงขนาดนั้น
แต่คำถามที่ตามมาก็คือในเมื่อไม่ไว้ใจบางคนทำไมถึงต้องคว่ำทั้งหมด คำตอบมันก็ไม่น่าจะเข้าใจยาก หากรู้ว่า กกต.เป็นกลไกสำคัญทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะยังมีผลต่ออนาคตทางการเมืองข้างหน้า มันถึงต้องสร้างหลักประกันเอาไว้ก่อน และแม้ว่าคราวนี้จะต้องเจอเสียงวิจารณ์ เพิ่มความไม่ไว้วางใจที่ต้องพุ่งมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อย่างเลี่ยงไม่ได้ และยิ่งในช่วง “ขาลง” แบบนี้มันก็ต้องป้องกันทุกทางเอาไว้ก่อนหรือเปล่า
ดังนั้น หากบอกว่าการคว่ำ 7 ว่าที่กกต.ดังกล่าวมันเสี่ยงต่อการถูก “ก้อนอิฐ” รุมปาเข้าใส่จากทุกทิศทาง แต่ก็อย่างว่าเพื่อ “รับประกันความชัวร์” ในวันหน้ามันก็ต้องกัดฟันยอมเสี่ยงนั่นแหละ!!