สนช.โหวตผ่านฉลุย พ.ร.ป.ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส.ด้วยคะแนนเสียง 213 ต่อ 0 และงดออกเสียง 4 เสียง ทำให้เลือกตั้งยืดไป 90 วัน คือ ก.พ. 62 อ้างให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อม พรรคการเมืองมีเวลาในการจัดการ “ไพรมารีโหวต” และสอดคล้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 53/60 ไฟเขียวให้มีมหรสพหาเสียงได้ อ้างเพื่อความคึกคัก ขณะเดียวกันไม่ไปหย่อนบัตรถูกตัดสิทธิ 2 ปี และห้ามรับตำแหน่งการเมือง
คืนวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 213 ต่อ 0 งดออกเสียง 4 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... 1 ใน 2 ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่ สนช.ต้องพิจารณา และเป็น 1 ใน 4 ของร่างกฎหมายที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้ง
สาระสำคัญในร่างกฎหมายที่อยู่ในความสนใจคือ มาตรา 2 ที่ร่างเดิมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ในวันถัดไปนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ได้แก้ไขเป็น ให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยให้เหตุผล เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 รวมถึงให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และให้พรรคการเมืองมีเวลามากพอ ในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารีโหวต
ขณะที่กรรมาธิการฯ เสียงข้างน้อย ตัวแทนจาก กรธ.ยืนยันว่า ระยะเวลาจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เป็นกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งที่เพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วัน แต่ในที่สุด สนช.มีมติ 196 ต่อ 12 งดออกเสียง 14 เสียง เห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากแก้ไข ซึ่งจะทำให้โรดแมปการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากเดิมอีก 3 เดือน จากพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562
สำหรับประเด็นมาตรา 35 สนช.มีมติ 181 ต่อ 24 งดออกเสียง 18 เสียง เห็นชอบให้ผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งถูกตัดสิทธิเพิ่มเติม ไม่สามารถสมัครรับราชการข้าราชการการเมืองและผู้บริหารท้องถิ่น เป็นเวลา 2 ปี ด้วยเหตุผลต้องการให้ความสำคัญต่อการใช้สิทธิเลือกตั้ง
มาตรา 75 ที่ประชุม สนช.มีมติ 136 ต่อ 78 งดออกเสียง 8 เสียง เห็นชอบตามที่กรรมาธิการฯ แก้ไข โดยตัดข้อห้ามเพื่อเปิดทางให้ใช้มหรสพหรือการรื่นเริงในการหาเสียงเลือกตั้งได้ ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นวิธีดึงดูดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมและวิธีประเมินค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยไม่ให้ใช้งบเกินร้อยละ 20 ของงบค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ทั้งของตัวผู้สมัครและพรรคการเมือง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญต่างๆ ที่น่าสนใจหลายมาตรา เช่น มาตรา 72 ห้ามหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ นับตั้งแต่เวลา 18.00 น.ก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดระยะเวลาเลือกตั้ง, มาตรา 82 กกต.อาจจัดเวทีประชันนโยบายระหว่างพรรคการเมืองได้ และมาตรา 87 ขยายเวลาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จากเดิม 08.00-16.00 น. เป็น 07.00-17.00 น.
สำหรับกระบวนการต่อไป ประธาน สนช.จะตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องไม่เกินระยะเวลา 5 วัน ก่อนส่งให้ กกต.และ กรธ.พิจารณาความชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นเวลา 10 วัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีข้อทักท้วงก็จะเสนอให้ประธาน สนช.จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วม 3 ฝ่าย เพื่อทบทวนร่างกฎหมายอีกเป็นเวลา 15 วัน ก่อนให้ สนช.ลงมติอีกครั้งหนึ่ง แต่หากไม่มีข้อทักท้วง ก็จะส่งให้นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป แต่ก่อนจะดำเนินการขึ้นตอนสุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีจะรอเวลาไว้ 5 วัน เผื่อกรณีว่าตัวนายกรัฐมนตรีเอง หรือ สนช.เข้าชื่อกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้