จ่อฟันทุจริต “สนามฟุตซอลโคราช 200 ล้าน” ป.ป.ช. ชี้ 30 คนมีเอี่ยว “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตส.ส. เพื่อไทย - “ชินภัทร ภูมิรัตน” อดีตเลขาฯ สพฐ. ข้าราชการครู ผู้รับเหมาเอกชน ร่วมขบวนการทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา เขต 2 นครราชสีมา ระบุพฤติกรรม “กลุ่มการเมือง” ไปติดต่อ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ รับงาน จัดซื้อจัดจ้าง มีข้อพิรุธผู้ยื่นเสนอราคาเป็นกลุ่มเดียวกัน ส่อแสดงว่ามีการสมยอมราคา รวมทั้งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน
วันนี้ (17 ม.ค.) มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในวันที่ 21 ม.ค. นี้ ป.ป.ช. เตรียมเสนออัยการสูงสุด (อสส.) ส่งฟ้องศาลดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องคดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จ.นครราชสีมา จำนวน 56 แห่ง มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท ภายหลังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการสอบสวน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหา นายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีต ส.ส.เพื่อไทย นครราชสีมา นายชินภัทร ภูมิรัตน อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กับพวก ซึ่งประกอบด้วย ข้าราชการ เอกชน และนักการเมือง รวมเกือบ 30 คน กรณีถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษา เขต 2 นครราชสีมา โดยจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวมีการร่วมกันทุจริตกันระหว่างข้าราชการ เอกชน และนักการเมือง กระทำกันอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนกลาง ยังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวน คดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอล ของโรงเรียนพื้นที่ภาคเหนือ หาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ
มีรายงานว่า ในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 สำหรับโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน วงเงิน 689 ล้านบาท กระจายงบให้กับโรงเรียน 358 แห่ง ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของ สพฐ. ที่ให้กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มูลค่ากว่า 200 ล้านบาทนั้น งบประมาณดังกล่าวได้มาจากการแปรญัตติของ ส.ส. ที่ระบุเป็นค่าก่อสร้าง - ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมที่ประสบอุบัติภัย แต่การดำเนินการได้นำไปก่อสร้างสนามฟุตซอล โดยเจาะจงส่งงบประมาณไปในจังหวัดข้างต้นที่กลุ่มการเมืองต้องการ
“พฤติกรรมของขบวนการดังกล่าว จะมีกลุ่มการเมืองไปติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้นำงบประมาณไปก่อสร้างตามโรงเรียนที่กำหนด โดยกำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา การกำหนดราคากลาง รวมทั้งร่างบันทึกการกำหนดขอบเขตงาน (TOR) เพื่อต้องการให้บริษัทห้างร้านของกลุ่มการเมืองดังกล่าวเป็นผู้ได้รับงาน ซึ่งการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างมีข้อพิรุธโดยมีผู้ยื่นเสนอราคาเป็นกลุ่มเดียวกัน จึงเป็นการส่อแสดงว่ามีการสมยอมราคา รวมทั้งการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยพื้นคอนกรีตไม่ถูกต้องตามคุณลักษณะเฉพาะ และนำวัสดุแผ่นยางสังเคราะห์สำหรับสนามในร่มมาใช้ในสนามกลางแจ้ง จึงทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ และไม่มีความทนทาน เป็นการใช้วัสดุผิดประเภท เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้าง”
มีรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเพื่อให้เข้ามารับทราบข้อกล่าวหา และชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายัง ป.ป.ช. แล้ว แต่อดีต ส.ส. ที่ได้กำหนดวันให้มาแก้ข้อกล่าวหายังไม่ได้เดินทางมาตามนัด ซึ่งจะมีการทำหนังสือแจ้งซ้ำไปอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กรณีที่เขต 2 นี้ จะนำมาเป็นโมเดลในการไต่สวนการทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ของในจังหวัดอื่นๆ ของภาคอีสานต่อไป เพราะพฤติกรรมของการทุจริตเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ดังนั้น คาดว่า ภายในเดือน มี.ค. -เม.ย. ทางอนุกรรมการไต่สวนจะสามารถสรุปเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดถูกผู้ถูกกล่าวหาได้” รายงานข่าวระบุ
นอกจากนี้ ในพื้นที่ จ.นครรรชสีมา พบว่า มีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนต่างๆ จำนวน 50 โรงเรียน ใช้งบประมาน 175 ล้านบาท พบว่า ส่วนใหญ่ใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน ราคาสูงเกินจริง และพบพิรุธอีกจำนวนมาก รวมทั้งบริษัททั้งหมดที่ชนะการเสนอราคาก่อสร้างเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ทาง สพฐ. ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต1 ฟ้องศาลดำเนินคดีกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มเอไอเอ็นเตอร์ไพร์ส และผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตในครั้งนี้ โดยได้ให้ ผู้บริหารโรงเรียน 16 แห่ง ซึ่งเป็นผู้ที่เสียหายแจ้งความเพื่อคดีกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้แล้ว โดยเฉพาะ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม เอ ไอ เอ็นเตอร์ไพร์ส”
มีข้อมูลจากคณะไต่สวนของ ป.ป.ช. ว่า มีอดีตนักการเมืองระดับชาติเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ อดีต ส.ส. นครราชสีมา และเครือข่ายเอกชนเก่าของอดีตที่ปรึกษา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาของรัฐบาลที่ดำเนินโครงการ
โดยใน จ.นครราชสีมา มีเอกชนเข้ามาก่อสร้าง รวม 27 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 82,730,500 บาท ประกอบด้วย 1. บริษัท ออคตากอน มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด 5 สัญญา รวมวงเงิน 11,396,000 บาท 2. บริษัท อินแทรค แอนด์ โค จำกัด 1 สัญญา รวมวงเงิน 1,982,000 บาท 3. บริษัท เพอร์เฟ็กซ์ แล็ป จำกัด 1 สัญญา รวมวงเงิน 2,372,000 บาท 4. บริษัท พี อาร์ เอ็น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 3 สัญญา รวมวงเงิน 14,998,500 บาท 5. บริษัท ทีวีเอ็นเทคโนโลยี จำกัด 2 สัญญา รวมวงเงิน 4,489,500 บาท 6. หจก.เอ็มเอไอเอ็น เอ็นเตอร์ไพรส์ 5 สัญญา รวมวงเงิน 22,497,500 บาท และ7.บริษัท วายอีอี จำกัด 10 สัญญา 24,995,000 บาท
มีรายงานว่า ในอดีต บอร์ด ป.ป.ท. เคยมีมติให้ส่งข้อมูลรายชื่อข้าราชการครูที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงการทั้งหมดไปให้ สพฐ.พิจารณาดำเนินการทางวินัย ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 69 ซึ่งมีข้าราชการครูที่เกี่ยวข้องกว่า 800 คน รวมถึงครูที่ทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างด้วย