โรงเรียนบ้านปากบางกลม ม.4 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีฯ ซึ่งอาคารเรียนถูกน้ำท่วมเป็นรอบที่ 3 แล้ว ทำให้เด็กๆ ต้องพายเรือลุยน้ำมาโรงเรียน หลังจากที่เกิดฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.เป็นต้นมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ระดับน้ำได้ลดลงจนเกือบจะปกติแล้ว
นางขวัญจิตต์ เนียมเกตุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบางกลม กล่าวว่า นับเป็นรอบที่ 3 แล้วของช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ที่โรงเรียนต้องประสับต่อปัญหาน้ำท่วมจนถึงตัวอาคารเรียนที่เด็กๆ ใช้เป็นที่เรียนหนังสือ ตอนนี้ข้าวของนั้นไม่มีอะไรจะเสียหายแล้วเพราะจมน้ำไปหมดแล้วก่อนหน้านี้ทั้งที่ได้เก็บขึ้นไว้บนที่สูงแล้ว แต่รอบที่ผ่านมาน้ำท่วมสูงกว่าที่คาดคิด และกลับมาท่วมอีกครั้งเป็นครั้งที่ 3
สำหรับโรงเรียนบ้านปากบางกลม ม.4 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ในสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ป.6 มีนักเรียนทั้งสิ้น 69 คน คุรู และบุคลากร 6 คน สภาพทั่วไปของโรงเรียนตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มป่าพรุ (ผืนเดียวกับป่าพรุควนเคร็ง) ริมคลองชะอวด ส่งผลให้โรงเรียนดังกล่าวต้องประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี
ปัจจุบัน สภาพโรงเรียนดังกล่าวเป็นอาคารเรียนยกพื้นชั้นเดียวที่ทรุดโทรม ซึ่งที่ผ่านมา คณาจารย์ และชุมชนได้ร่วมกันเรียกร้องขออาคารใหม่แบบยกพื้นใต้ถุนสูงที่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ และพร้อมจะรับมือต่อปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากได้ อีกทั้งสามารถเป็นที่พึ่งพิงของคนในพื้นที่ยามเกิดปัญหาอุทกภัยได้มาหลายครั้ง แต่กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง
วิกฤตน้ำท่วมต้นเดือนมกราคมปี 2560 ที่ผ่านมา โรงเรียนบ้านปากบางกลม ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ด้วยระดับน้ำเข้าท่วมภายในตัวอาคารเรียนสูงกว่า 1 เมตร ส่งผลให้อุปกรณ์สำนักงาน สื่อการเรียนการสอน เอกสาร หนังสือ และเครื่องมือเครื่องใช้อื่นๆ ของโรงเรียนได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด อาคารเรียนก็อยู่ในสภาพชำรุดอย่างหนัก
จากปัญหาข้างต้น ผู้บริหาร บุคลากรของโรงเรียน ผู้นำชุมชน และทีมงานจิตอาสาจากนอกพื้นที่ ได้ร่วมกันปรึกษาหารือ วางแผนฟื้นฟูโรงเรียนบ้านปากบางกลม จึงร่วมกันริเริ่มก่อตั้งโครงการ “เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กๆ” โดยมีภารกิจหลักในการระดมทุน ระดมกำลังเพื่อฟื้นฟูโรงเรียนภายหลังน้ำท่วม โดยวางแผนการทำงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.แผนงานเร่งด่วน คือ ซ่อมแซมฟื้นฟูอาคารเรียนเก่าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ชั่วคราว พร้อมทั้งจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอน และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เพื่อให้มีการจัดการเรียนการสอนให้เด็กโดยเร็วที่สุด
2.แผนงานป้องกัน คือ สร้างอาคารเรียนใหม่ 1 หลังแบบยกพื้นใต้ถุนสูง เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่และพร้อมรับมือต่อภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นมาในอนาคต
3.แผนงานชุมชนจัดการตนเอง โดยใช้กระบวนการถอดบทเรียนภัยพิบัติในพื้นที่ และกลไกในการจัดการ เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะรับมือต่อภัยพิบัติโดยคาดหวังว่าชุมชนจะจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมการจัดการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
และล่าสุด ศิลปินเพลงเพื่อชีวิตภาคใต้ “ตุด นาคอน” ได้แต่งเพลง "เก็บความเศร้าไว้ให้พ้นมือเด็กๆ" เพื่อใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ในการฟื้นฟูโรงเรียนแห่งนี้ รับฟังได้จากคลิปวิดีโอ