xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ คืบหน้า โครงการ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ชูต้นแบบแหล่งเรียนรู้ “โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร่วมเสวนาถึงผลสำเร็จโครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต
หลังจากที่ “โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง” คว้ารางวัล “CPF CSR to Sustainability Awards” ระดับยอดเยี่ยมด้านอาหารมั่นคงจากซีพีเอฟ ประจำปี 2559 โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ในระยะเวลาเพียง 3 ปี ด้วยการปลูกเห็ดนางฟ้าเป็นอาหารกลางวันของนักเรียน แล้วยังขยายผลเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้อีกต่างหาก
โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง ตำบลลาดบัวขาว อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นต้นแบบในการสร้างการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาภาวะโภชนาการขาดของโรงเรียนที่มีอัตราสูงถึง 14 คนของจำนวนนักเรียนประมาณ 197 คน ในปีการศึกษา 2557 ซึ่งจากผลการดำเนินงาน ภาวะโภชนาการขาดของเด็กในแต่ละปีมีอัตราลดลง และในวันนี้ไม่มีเด็กที่มีความสูงและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ถือว่าเป็นผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ 5 ปีของโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ตั้งแต่เริ่มปีที่ 3 ทั้งด้านการขยายผลสู่ชุมชน และทำให้โรงเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้
จากจุดเริ่มต้นโครงการปี 2558 ในขณะนั้นโรงเรียนบ้านใหม่สำโรงมีนักเรียนที่มีทุพโภชนาการ 40 คน เป็นเด็กนักเรียนที่ขาดสารอาหาร (ผอมและเตี้ย) 14 คน และเป็นเด็กนักเรียนที่อ้วน 26 คน ในปีต่อมาพบนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการลดลงเหลือ 18 คน เป็นเด็กนักเรียนที่ขาดสารอาหาร (ผอมและเตี้ย) 1 คน และเป็นเด็กนักเรียนที่อ้วน 17 คน จนกระทั่งปีนี้ มีนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ 20 คน เป็นเด็กนักเรียนที่อ้วน 20 คน แต่ไม่พบนักเรียนที่ขาดสารอาหารแต่อย่างใด
สุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ
ตอบโจทย์แนวทางประชารัฐ และ SDGs
สุธี สมุทระประภูต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า โครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” จัดอยู่ในตัวชี้วัดที่ 2 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainble Development Goals หรือ SDGs) เรื่องของการลดความหิวโหย มีระยะเวลาตามยุทธศาสตร์ 5 ปี ในปีแรกของเราจะเป็นการสำรวจข้อมูลเด็กนักเรียนที่มีภาวะทุพโภชนาการ ในปีที่สองเน้นการเสริมสร้างผลผลิต ให้โรงเรียนสามารถสร้างผลผลิตได้ต่อเนื่อง
เราดำเนินตามแนวทางการดำเนินงานด้านสังคมและชุมชนของบริษัท ด้วยกลยุทธ์ 4 ผสาน ขีด-คิด-ร่วม—ข่าย โดย ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมูลนิธิพัฒนาชนบท เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนในพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มบริษัทได้มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและโภชนาการอย่างเพียงพอให้แก่เด็กไทย และติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิด โดยมีเป้าหมายให้โรงเรียนพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตอาหารต้นแบบของโรงเรียนและชุมชน เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ในปี 2558 โครงการฯ เริ่มต้นสนับสนุน 67 โรงเรียนและในปี 2560 นี้ มีโรงเรียนสนใจมาเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มเติม ส่งผลให้ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 72 แห่ง
“จากการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ระหว่างภาครัฐ ชุมชน และพนักงานซีพีเอฟ เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในโครงการ มีการกำหนดเป้าหมายและการวัดผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคตเห็ดนางฟ้าเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านใหม่สำโรง เป็นโรงเรียนแห่งแรกในโครงการนี้ได้รับรางวัล “CPF CSR to Sustainability Awards” ระดับยอดเยี่ยมด้านอาหารมั่นคงจากซีพีเอฟ ในปี 2559 นอกจากนี้ ยังสามารถเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยผลผลิตที่เหลือก็นำไปจำหน่ายซึ่งต่อยอดสร้างอาชีพเสริมให้กับนักเรียนและชุมชน ที่นี่จึงใช้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลให้โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป ”
สุธี กล่าวอีกว่า ปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการฯ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2558-2562) ซีพีเอฟจะมุ่งเน้นขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีการจัดการด้านผลผลิตอาหาร โดยสนับสนุนองค์ความรู้แก่โรงเรียนในการจัดการผลผลิตและอาหารที่ถูกหลักโภชนาการมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอย่างเช่น สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยอบรมครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องมีความรู้ด้านโภชนาการอาหารทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และกระตุ้นให้โรงเรียนใช้ประโยชน์โปรแกรม Thai School Lunch เข้ามาช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดอาหารกลางวันมีคุณภาพสูงและมีโภชนาการที่เหมาะสมและเพียงพอกับการเจริญเติบโตของเด็กนักเรียนและผลักดันให้มีการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและโภชนาการของโรงเรียนขึ้น เพื่อขยายผลไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านอาหารและอาชีพของชุมชนตามเป้าหมายของโครงการฯ ต่อไป
นัฐพงศ์ เถาะสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่สำโรง
องค์ความรู้จากโครงการฯ ต่อยอดได้ยั่งยืน

นัฐพงศ์ เถาะสูงเนิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านใหม่สำโรง กล่าวว่า โรงเรียนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการผลผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้สุขโภชนาการ ตั้งแต่ การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกผักปลอดสาร รวมถึง สุขลักษณะในการผลิตอาหารที่ดี (GMP) การแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ รวมถึงการบริหารจัดการโครงการ หลักการทำบัญชีการเงิน และการจัดหาสถาบันการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต เช่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ในการเพาะหัวเชื้อเห็ด
ช่วงปีแรกของโครงการ การเพาะเห็ดนางฟ้าของโรงเรียนมีปัญหา เห็ดที่ได้ไม่มีคุณภาพ ก้อนเชื้อเน่า เนื่องจากนักเรียนขาดประสบการณ์แต่ภายหลังได้รับการช่วยเหลือจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมาเข้ามาเป็นวิทยากรในการเพาะหัวเชื้อเห็ด และได้รับทุนจากซีพีเอฟในการเปลี่ยนสปริงเกลอร์ให้เป็นแบบละออง ทำให้ก้อนเชื้อไม่เน่าและได้เห็ดที่มีคุณภาพ ต่อมาได้รับการสนันสนุนเครื่องนึ่งจากซีพีเอฟ โรงเรียนจึงสามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดเองได้ โดยมีกำลังการผลิตที่ 600 ก้อนต่อครั้ง ผลผลิตจากเห็ดจะถูกนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนสัปดาห์ละ 1 มื้อ
ส่วนการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟทั้งแม่พันธุ์ไก่ โรงเรือน และอาหาร ซึ่งทางโรงเรียนเลี้ยงไก่มาแล้ว 2 รุ่น แบ่งเป็น 2 เล้า เล้าละ 200 ตัว ใน 1 วัน สามารถเก็บไข่ไก่ได้ประมาณ 5-6 ถาด ไข่ไก่ที่เก็บได้จะถูกนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนสัปดาห์ละ 3 มื้อ ส่วนไข่ไก่ที่เหลือจะถูกนำไปคัดเป็น 2 ขนาด คือขนาดที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 60 กรัม และน้ำหนักตั้งแต่ 80 กรัมขึ้นไป เพื่อนำไปขายในราคาที่ต่างกัน นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้เริ่มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นการปลูกพืชโดยไม่อาศัยดิน และมีผลผลิตสามารถนำไปประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนได้แล้ว
“จนถึงวันนี้ โรงเรียนสามารถต่อยอดความรู้และพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้การผลิตอาหารใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเองในการผลิต ลดต้นทุนและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จำหน่ายในชุมชน” นัฐพงศ์ กล่าว
นัฐพงศ์ ย้ำว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีในการดำเนินโครงการฯ ซีพีเอฟ ช่วยให้โรงเรียนสามารถจัดการผลผลิตอาหารเพียงพอและโภชนาการครบถ้วนเหมาะสมตามวัย นักเรียนได้รับอาหารคุณภาพและปลอดภัย สอดคล้องแนวทางการดำเนินโครงการฯ โรงเรียนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบสำหรับอาหารกลางวันนักเรียน และที่สำคัญยังเป็นแหล่งเรียนรู้ใช้ฝึกปฏิบัติในการทำการเกษตรและผลิตอาหารของโรงเรียน และขยายผลเป็นทักษะพื้นฐานในการประกอบอาชีพ
“ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ไม่เพียงสร้างโภชนาการที่ดี และทักษะอาชีพด้านเกษตรให้เยาวชนเท่านั้น แต่ยังช่วยปลูกฝังคุณธรรมความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม และความซื่อสัตย์ให้กับนักเรียน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาประชากรที่มีคุณภาพของสังคมอีกด้วย” ผอ.รร.บ้านใหม่สำโรง กล่าว
ขณะเดียวกัน กมลชนก โพธิ์ศิริ ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง บอกว่า ตนเองมีส่วนร่วมกับกิจกรรมนี้ทั้งการเพาะเห็ด การทำก้อนเชื้อเห็ด และการแปรรูปอาหาร โดยใช้เวลาว่างในช่วงเช้า พักกลางวัน และตอนเย็นก่อนกลับบ้าน จากที่ได้เข้าร่วมตนเชื่อว่ากิจกรรมนี้ทำให้มีทักษะสำหรับการนำไปประกอบอาชีพ ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นอาชีพเสริมก็ได้


เพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงไก่ไข่ และการปลูกผักปลอดสาร สู่การต่อยอดที่สร้างรายได้และอาชีพให้โรงเรียนและชุมชน
โรงเรียนบ้านใหม่สำโรง และซีพีเอฟ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “การจัดการผลผลิต สู่ ตลาดนัดพอเพียง”
กำลังโหลดความคิดเห็น