xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” สั่ง 3 กระทรวงเร่งศึกษาสารกำจัดศัตรูพืช “พาราควอต” เน้นผลกระทบ-รอ อก.ฟันธงห้ามขายทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” สั่ง สธ.-กษ.-กอ.เร่งศึกษายากำจัดศัตรูพืช “พาราควอต” เน้นดูผลกระทบการใช้ยา เหตุรับรายงานเบื้องต้น เกษตรกรนิยมนำมาใช้กำจัดวัชพืช รอ กษ.ฟันธงมีผลต่อสุขภาพจริงหรือไม่ อันตรายแค่ไหน ก่อนให้ กรอ.ออกคำสั่งห้ามขาย เผยนายกฯ รับเรื่องแล้วเอ็นจีโอร้องเรียนให้ยกเลิกจำหน่ายในประเทศ หลัง สธ.พบมีความเสี่ยงสูงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

วันนี้ (12 ม.ค.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีข้อสั่งการในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับยาพาราควอต (Paraquat) และผลกระทบของการใช้ยาดังกล่าวซึ่งเป็นสารเคมีที่เกษตรกรนิยมนำมาใช้ในการกำจัดวัชพืชและมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ และให้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยเร็ว

“ให้ไปศึกษารายละเอียดก่อนรายงานว่าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทยาพาราควอตมีผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร หลังจากประชาชนร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีว่ามีผลเสียมาก”

มีรายงานด้วยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานข้อมูลของคณะกรรมการวัตถุอันตรายต่อนายกรัฐมนตรี เบื้องต้นระบุว่า พาราควอตอยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 โดยทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ควบคุมอยู่ ล่าสุดกรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานว่า พาราควอตยังคงสามารถใช้ในภาคการเกษตรได้ต่อ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

“ทางกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเป็นต้นเรื่องจะต้องเป็นผู้ฟันธงออกมาก่อนว่ามีผลต่อสุขภาพจริงหรือไม่ อันตรายแค่ไหน จากนั้นทาง กรอ.จึงจะชี้ชัดเพื่อออกคำสั่งต่อไปว่าจะแบน ห้ามขาย หรือยังสามารถนำเข้า หรือนำมาขายได้ หรือไปตรงในกฎหมายมาตราใดอย่างไร ขณะนี้มีการหารือร่วมกันแนะนำหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูว่า พาราควอต อันตรายต่อมนุษย์จึงเห็นควรต้องยกเลิกใช้ไปเลยหรือไม่”

มีรายงานว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมา เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เข้าสุ่มตรวจ ผักและผลไม้ ในท้องตลาดทั่วประเทศ พบสารพิษตกค้างจำนวนมาก โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชพาราควอตที่พบมากกว่าครึ่งของกลุ่มอย่างที่สุ่มตรวจทั้งหมด 15 ชนิด 76 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีก และตลาดสดทั่วประเทศ จากกลุ่มผักยอดนิยม ผักพืชบ้านยอดนิยม และผลไม้ พบถั่วฝักยาว พริก ใบบัวบก แก้วมังกร และองุ่น เป็นกลุ่มผักและผลไม้ ที่มีสารพาราควอตตกค้างในอันดับต้นๆ นอกจากนี้ยังพบสารเคมีตกค้างชนิดอื่นตกค้างในผักผลไม้ อีกหลายชนิด เช่น กะเพรา คะน้า กล้วย เป็นต้น

“แม้จะลดลงจากผลการสำรวจที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าเป็นที่น่ากังวล เนื่องจากสารเคมีที่พบถือว่าสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนด และสารเคมีที่พบบางชนิด ไม่ถูกกำหนดให้ใช้ในประเทศไทย” รายงานการตรวจสอบระบุ

มีรายงานว่า กลางปีที่แล้ว ไทยแพน ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เครือข่ายความมั่นทางอาหาร และตัวแทนเครือข่ายองค์กรท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดแถลงข่าว “รวมพลังสนับสนุนการแบนสารพิษ” ชี้แจงข้อโต้แย้งจากกรมวิชาการเกษตร และบริษัทซินเจนทาฯ รวมไปถึงเปิดเผยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และเหตุผลทางเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต

“ยังรวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในขณะนั้น โดยเรียกร้องให้ยุติการต่อทะเบียนและยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพรีฟอส รวมถึงจำกัดการใช้ไกลโฟเซต ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขที่พบว่ามีความเสี่ยงสูงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม”

มีรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า ได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ของกระทรวงสาธารณสุข ที่เสนอให้พิจารณาลด ละ เลิกใช้ วัตถุอันตรายเนื่องจากมีข้อมูลที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอให้ห้ามใช้วัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ภายในต้นเดือนธันวาคม 2562 และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต อย่างเข้มงวด

“อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้สามารถใช้สารเคมีพาราควอตแล้ว 3 ราย ประกอบด้วย 1. ซินเจนทา 3 รายการ 2. เอเลฟองเต้ 1 รายการ และ 3. ดาว อโกรไซแอนส์ 1 รายการ และอีก 1 รายอยู่ระหว่างดำเนินการ ส่วนคลอร์ไพริฟอสอยู่ระหว่างดำเนินการ 1 ราย ขณะที่ปัจจุบันมีคำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่รอการพิจารณาจากอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่คงค้างการพิจารณา จำนวน 4,100 คำขอ”


กำลังโหลดความคิดเห็น