ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้ พรรคยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ม.44 ส่อมีปัญหาเหตุบทเฉพาะกาล รธน. คุ้มครองอยู่ ยันไม่ลิดรอนสิทธิ์ อ้างแก้ไขกฎหมายลูกทำทันทีไม่ได้ ปัดการปกครองอยู่ที่คำสั่งของคนๆ เดียว ยันไม่มีใครรับใบสั่ง
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 สิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือไม่ ว่า สำหรับพรรคการเมืองมีช่องทางเดียว คือ ศาลรัฐธรรมนูญ แต่อาจมีปัญหาเรื่องบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่คุ้มครองคำสั่ง คสช. ซึ่งมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่ประเด็นเรื่องละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือไม่นั้น เท่าที่ดูการออกคำสั่ง คสช. เพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง คิดว่า คสช. ไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ พรรคการเมืองยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตามสิทธิ์ แต่ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้ดุลพินิจรับคำร้องหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่า การใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ถือว่าเป็นการใช้กฎหมายตามหลักนิติธรรมหรือไม่ นายพรเพชร ชี้แจงว่า กฎหมายจำเป็นต้องมีการแก้ไข ถ้าเกิดความผิดพลาดหรือไม่สอดคล้องกับกฎหมายฉบับอื่น หรือทำให้เกิดปัญหาก็ต้องแก้ไขเป็นหลักธรรมดา หากปล่อยกฎหมายเดินไปมีปัญหาแล้วไม่ได้แก้ไขคงจะไม่ได้ ทั้งนี้ การแก้ไข พ.ร.ป. มีเวลาที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ถ้า สนช. แก้ไขได้ทันที วันรุ่งขึ้นเราอาจจะทำเลย เรายอมรับความผิดพลาดได้ถ้าสิ่งนั้นเราออกกฎหมายไปแล้ว แต่การแก้ไขของ สนช. ในปัจจุบันก็จะถูกจำกัดระยะเวลาด้วยมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้มีการพูดกันว่าควรจะต้องมีการแก้ไขถ้าหากมีความจำเป็น เราถือว่าเมื่อทำผิดต้องยอมรับผิดและต้องปรับปรุงแก้ไขใหม่ให้เดินต่อไปได้
ถามว่าหากเป็นเช่นนี้เหมือนว่าประเทศไม่ได้ปกครองตามระบบนิติรัฐ นิติธรรม แต่ขึ้นอยู่กับคำสั่งของคนๆ เดียว หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะอำนาจการทำงานได้กระจายไปทุกส่วน ฝ่ายนิติบัญญัติก็รับหน้าที่มา ยืนยันว่า ไม่มีใครรับใบสั่งอะไรมา เพราะรัฐบาลสามารถออกกฎหมายได้ทางเปิดเผยอยู่แล้ว