ทีมกฎหมายเพื่อไทย ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.จำกัดสิทธิสมาชิกพรรคหรือไม่ พร้อมขอสั่งเลิกด้วย ซัดทำยุ่งยาก ขัด ม.45 ห้ามไม่ให้คนนอกสั่งพรรค แถมไม่รับฟังความเห็นคนได้รับผลกระทบ จวกสร้างภาระพรรคเก่า
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรนูญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของหัวหน้า คสช.กรณีออกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการกระทำการที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพบุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ประกอบมาตรา 77 วรรคสอง และการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามความในมาตรา 5 หรือไม่ นอกจากนี้ยังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 สิ้นผลไป โดยไม่มีผลใช้บังคับได้มาตั้งแต่แรก หรือเสมือนไม่เคยมีคำสั่งดังกล่าว
นายเรืองไกรกล่าวว่า การที่คำสั่งดังกล่าวเป็นการบังคับให้สมาชิกพรรคการเมืองจะต้องทำหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซึ่งมีทั้งการเขียนเป็นเอกสาร และต้องมีการส่งหลักฐานประกอบนั้น ประชาชนสามารถทำได้หรือไม่ เป็นการละเมิดสิทธิเขาหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้วควรจะเป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองในการตรวจสอบว่าสมาชิกพรรคมีคุณสมบัติหรือขาดคุณสมบัติ ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นภาระของสมาชิกพรรคการเมือง ตนมองว่าการออกคำสั่งดังกล่าว ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ห้ามไม่ให้คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคการเมืองมาสั่งการพรรคการเมือง นอกจากนั้นยังมองว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 77 วรรคสองด้วย เพราะการออกคำสั่งดังกล่าวของ คสช. ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกพรรคการเมืองก่อน ตนจึงนำเรื่องนี้มาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งให้คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 สิ้นผลไป เพราะหากไม่อย่างนั้นก็จะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งลบล้างกฎหมาย หรือออกเป็นกฎหมายโดยไม่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยยกเลิกคำสั่งหรือประกาศคณะปฏิวัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแล้วหลายฉบับ ครั้งนี้ตนจึงมาขอพึ่งศาลรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่ารีเซตสมาชิกพรรคการเมืองเอื้อให้พรรคทหารหรือไม่ นายเรืองไกรกล่าวว่า ก็มีความเป็นไปได้ ส่วนจะเอื้อใครหรือไม่ไม่ทราบ เรื่องดังกล่าวแม้จะดูเหมือนว่าเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมืองเก่า แต่กลับทำให้เกิดภาระกับพรรคการเมืองเก่าในการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ขณะที่เป็นเรื่องง่ายสำหรับพรรคการเมืองใหม่