“สหภาพยาสูบ” ยื่นฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน-ทุเลากฎกระทรวงคลัง เหตุพิกัดภาษีบุหรี่ใหม่ เปิดช่องให้บริษัทข้ามชาติสำแดงราคาบุหรี่ต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลกระทบยอดบุหรี่ โรงงานยาสูบขายไม่ออก
วันนี้ (8 ธ.ค.) ที่ศาลปกครอง สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ นำโดยนายคณุตม์ ฤทธิสอน ประธานสหภาพฯ นำรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบจากกฎกระทรวงการคลังว่าด้วยการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 จำนวน 14,676 รายชื่อ ประกอบด้วย พนักงานโรงงานยาสูบ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ ผู้บ่ม ผู้ค้าส่ง และผู้เกี่ยวข้อง เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้พิจารณาทุเลาและเพิกถอนการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าว
นายคณุตม์เปิดเผยว่า จากผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.เป็นต้นมา ส่งผลให้โรงงานยาสูบมียอดจำหน่ายบุหรี่ลดลงจากปีงบประมาณ 2560 คิดเป็น 41% เนื่องจากบทบัญญัติและหลักเกณฑ์ของกฎหมายเปิดช่องให้บริษัทบุหรี่ต่างประเทศลดราคาจากเดิม เข้าแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของบุหรี่ไทย ทำให้แนวโน้มการบริโภคบุหรี่ต่างประเทศมีมากขึ้น เนื่องจากราคาถูกลง จนทำให้รายได้ของโรงงานยาสูบซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการคลัง ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จึงได้เข้ายื่นฟ้องกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เพิกถอนกฎกระทรวงการคลังว่าด้วยการกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาทุเลาการบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับเดียวกันในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีด้วย
นายคณุตม์กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้สหภาพฯ ได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมไปถึงกรมสรรพสามิตแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่เป็นทางการกลับมา ไม่มีแม้แต่การเรียกทางโรงงานยาสูบเข้าไปชี้แจง มีเพียงกระแสข่าวว่ากำลังพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือเยียวยาเท่านั้น เมื่อไม่เกิดความชัดเจนเช่นนี้ อีกทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องมาขอพึ่งอำนาจศาลในการพิจารณาทุเลาและเพิกถอนกฎกระทรวงฯ เพื่อให้ย้อนกลับไปใช้อัตราภาษีสรรพสามิตเดิม ก่อนวันที่ 16 ก.ย. 2560 ที่ พ.ร.บ.สรรพสามิต ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้
“ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สรรสามิตฉบับใหม่ และกฎหมายกระทรวงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนลดละเลิกบุหรี่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็เพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น รวมทั้งให้บุหรี่ต่างชาติสำแดงราคาที่เป็นจริง แต่ปรากฏว่ากฎกระทรวงฯ กลับทำให้บุหรี่ข้ามชาติ อาศัยช่องทางการตลอดและช่องทางกฎหมาย ลดราคาสำแดงลงมา จนทำให้โรงงานยาสูบซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้รับความเสียหาย และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถจัดส่งรายได้ให้แก่รัฐได้เท่าเดิม ที่ 5 ปีที่ผ่านมาจัดส่งไปเฉลี่ยถึง 6 พันล้านบาทต่อปี รายได้ที่หายไปก็ไปอยู่กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่มาทำธุรกิจและขนเงินออกนอกประเทศนั้นเอง” นายคณุตม์ระบุ