“มานิจ” เผย กก.ปฏิรูปตำรวจ มีมติตั้ง กอ.ตร.รับร้องเรียนเรื่องตำรวจ หลังพบข้อร้องเรียนค้างอื้อ 2,600 เรื่อง พร้อมปรับโครงสร้าง-เพิ่มอำนาจจเรตำรวจแก้ครหายักษ์ไม่มีกระบอง
วันนี้ (29 พ.ย.) นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ปฏิรูปตำรวจ) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมการอิสระพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กอ.ตร.) โดยมีคณะกรรมการ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย จเรตำรวจ รองจเรตำรวจ 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 6 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ไม่เคยรับราชการตำรวจ 4 คน โดยต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านยุติธรรม นิติศาสตร์ หรือด้านการบริหารงานภาครัฐ มีประสบการณ์เคยรับราชการและดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดีหรือเทียบเท่าหรือไม่น้อยกว่าสองปี และ 2. กลุ่มเคยรับราชการตำรวจ จำนวน 2 คน ที่ต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่าไม่น้อยกว่า 2 ปี และพ้นจากหน้าที่ราชการตำรวจไม่น้อยกว่า 2 ปี โดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี โดยคณะกรรมการทั้ง 9 คน จะเลือกประธานกันเอง
นายมานิจกล่าวว่า กอ.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี เพียงวาระเดียว และเมื่อครบ 2 ปีครึ่งนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง กอ.ตร.ครั้งแรก ให้ กอ.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละกลุ่มจับฉลากเพื่อพ้นจากตำแหน่งจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวน กอ.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ร.) จะเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา จำนวน 7 คน เพื่อคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ กอ.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ สำหรับสาเหตุที่ให้มี กอ.ตร.เนื่องจากขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนมายังจเรตำรวจให้พิจารณาเป็นจำนวนมากถึง 2,600-3,000 เรื่อง แต่จเรตำรวจสามารถพิจารณาเรื่องได้เพียงปีละ 50 เรื่องเท่านั้นจึงต้องให้มี กอ.ตร.มาพิจารณาเรื่องร้องเรียนต่างๆ
นอกจากนี้ ที่ประชุมพิจารณาว่าจะต้องมีการปรับโครงสร้างการบังคับบัญชาสำนักงานจเรตำรวจ โดยย้ายตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ รองจเรตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจ และรองจเรตำรวจ ซึ่งปัจจุบันสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งขาติ ไปสังกัดสำนักงานจเรตำรวจ และกำหนดให้จเรตำรวจแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานจเรตำรวจ มีอำนาจกำกับดูแลสำนักจเรตำรวจ นอกจากนั้นยังได้มีการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของจเรตำรวจแห่งชาติ ว่านอกจากจะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสำนักงานจเรตำรวจแล้ว ยังให้รับผิดชอบราชการงานร้องเรียนตำรวจ สนับสนุนปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.ตร. รับผิดชอบการส่งเสริมประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณตำรวจ และสอดส่องดูแลการรักษาประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณตำรวจของหน่วยงานตำรวจ และข้าราชการตำรวจ เพื่อแก้ปัญหาที่ถูกกล่าวหาว่าเจรตำรวจเป็นแค่ยักษ์ไม่มีกระบอง