สตง.ชำแหละ “โครงการรถฉุกเฉิน” ท้องถิ่น 2 จังหวัดภาคอีสาน กว่า 130 คัน มูลค่ารวม 54 ล้านบาท ตะลึง! อบจ.ร้อยเอ็ด วิ่งส่งเอกสารใช้วิธีพิเศษเช่าวงเงิน 2.3 หมื่น/เดือน ส่วนโครงการของ อบจ.มหาสารคาม พบการกำหนดอัตราค่าเช่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ แถมยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสืบสวนของ สตง. แถมคนใกล้ชิดนายกโทร.เรียกรถพยาบาลเพื่อให้มารับกลับบ้าน
วันนี้ (22 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง.ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดมหาสารคาม ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มหาสารคาม และโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดร้อยเอ็ด ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด
รายงานตอนหนึ่งระบุว่า ในส่วนของ อบจ.มหาสารคาม ได้จัดทำโครงการระหว่างเดือนมีนาคม 2558-กันยายน 2558 งบประมาณ 22,138,388 บาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ได้จัดสรรงบประมาณในหมวดค่าใช้สอยประเภทรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการ จำนวน 25,987,000 บาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 90 คัน คันละ 24,430 บาทต่อเดือน ระยะเวลาเช่า 10 เดือน จำนวนเงิน 21,987,000 บาท และเพื่อจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ จำนวนเงิน 4,000,000 บาท และโอนเพิ่ม/ลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งศูนย์สั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนเงิน 12,503,000 บาท
สตง.พบว่า การเช่ารถพยาบาลฉุกเฉินโดยวิธีการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) เช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน ระยะเวลาเช่า 5 ปี กำหนดราคากลาง 58,560,000 บาท ผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ บริษัท แครี่บอยลิสซิ่ง จำกัด จำนวนเงิน 58,248,000 บาท และทำสัญญาเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน ตามสัญญาเลขที่ 03/2558 ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ตกลงเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 40 คัน ระยะเวลา 5 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 970,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 58,248,000 บาท เพียงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 เบิกจ่ายเงินค่าเช่ารถเดือนกันยายน 2558 -มิถุนายน 2559 จำนวนเงิน 9,708,000 บาท การดำเนินการตามภารกิจในการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน อบจ.มหาสารคาม ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 39 คัน และนำมาบริหารจัดการเอง จำนวน 1 คัน
“จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินจำนวน 24 แห่ง พบว่า 1. อปท.จำนวน 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 8.33 ของ อปท.ที่สุ่มตรวจสอบ ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินมาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน อปท.จำนวน 22 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 91.67 ของ อปท.ที่สุ่มตรวจสอบ มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน”
แฉ! คนใกล้ชิดนายกโทร.เรียกรถพยาบาลเพื่อรับกลับบ้าน
นอกจากนี้ จากการสุ่มสอบถามประชาชนที่เคยใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินในพื้นที่ อปท.ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 18 แห่ง ที่ได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉิน พบว่า ประชาชนบางรายใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินโดยไม่ได้มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ เช่น การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลตามนัด ทั้งโรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลนอกเขตจังหวัด การโทรศัพท์เรียกรถพยาบาล (เบอร์โทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่/นายกฯ) เพื่อรับกลับบ้าน เป็นต้น และประชาชน 1 ราย มีอาการท้องเสีย ได้ร้องขอให้รถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท.พามารักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน
“ผลกระทบการดำเนินการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด อาจทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ควรได้รับบริการอย่างทันท่วงที และอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินหากเกิดอุบัติเหตุระหว่างทาง ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ ในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีคุณภาพมาตรฐาน และ อปท.อาจมีภาระค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจากการให้บริการนอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ สาเหตุที่ อปท.นำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน และนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉินเนื่องมาจาก อบจ.มหาสารคาม ไม่มีการติดตามตรวจสอบ และควบคุมให้ อปท.ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน ปฏิบัติตามประกาศสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2553 เรื่อง หลักเกณฑ์การสนับสนุนการดำเนินงาน”
ทั้งนี้ยังพบว่า กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการของ อปท.ได้รับการประสานหรือสั่งการโดยตรงจากผู้บังคับบัญชาให้นำรถไปใช้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน หรือนำรถไปใช้นอกเขตความรับผิดชอบของชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน
เผย “อัตราค่าเช่า” ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสืบสวนของ สตง.
มีรายงานว่า สตง.ยังพบว่า มีการเบิกจ่ายเงินค่าเช่างวดแรกประจำเดือนกันยายน 2558 ให้ผู้ให้เช่าไปแล้วจำนวนเงิน 970,800 บาท แต่ อบจ.มหาสารคาม ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้แก่ อปท.ที่จัดบริการ สาธารณะร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันจัดทำบริการสาธารณะของ อปท.ในเขตจังหวัดมหาสารคาม โดยได้ส่งมอบในช่วงเดือน ตุลาคม 2558 ถึง พฤษภาคม 2559 รถพยาบาลฉุกเฉินในช่วงที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,089,988.92 บาท
อีกทั้งมีการกำหนดอัตราค่าเช่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 เมษายน 2555 และไม่ได้กำหนดอุปกรณ์การแพทย์พื้นฐานประกอบรถพยาบาลฉุกเฉินตามรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะแนบท้ายบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ ของสำนักงบประมาณ พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบสืบสวนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แจ้งตามหนังสือสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดมหาสารคาม ลับ ที่ ตผ 0049.4 มค/0409 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2559 เรื่อง การตรวจสอบการเช่ารถพยาบาล ฉุกเฉินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม
ขณะที่ อบจ.มหาสารคาม ได้มีการส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้ อปท.ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 39 คัน และนำมาบริหารจัดการเองจำนวน 1 คัน จากการสุ่มตรวจสอบ อปท.ที่ได้รับรถพยาบาลฉุกเฉิน จำนวน 23 แห่ง และที่ อบจ.มหาสารคาม รวมเป็น 24 แห่ง พบว่า อปท.จำนวน 2 แห่ง สามารถให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทันทีภายหลังจากการส่งมอบรถ เนื่องจากมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการอยู่
สตง.ยังพบว่า เกิดความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการในช่วงที่ไม่ได้ส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นจำนวนเงิน 2,089,988.92 บาท ทำให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการเช่ารถพยาบาลฉุกเฉิน โดยไม่มีการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินตามระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในระหว่างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนชุดปฏิบัติการ หรือขึ้นทะเบียนแล้วแต่ไม่มีการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
“ทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือมีผู้ป่วยฉุกเฉินในช่วงที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับรถพยาบาลฉุกเฉินจากองค์การ บริหารส่วนจังหวัดไปแล้ว แต่ไม่สามารถให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินได้ตามระบบ”
ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ด อนุมัติเช่าโดยวิธีพิเศษ 40 คัน คันละ 23,840 บาท/เดือน ถูกนำไปใช้ส่งเอกสาร
สำหรับโครงการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จังหวัดร้อยเอ็ด ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ร้อยเอ็ด ปีงบประมาณ 2557 ได้จัดทำสัญญาเช่ารถยนต์ จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าคันละ 23,840 บาทต่อเดือน กำหนดระยะเวลา 1 ปี สิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 และเพื่อพัฒนาระบบบริการ ทางการแพทย์ฉุกเฉินให้ต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น อบจ.ร้อยเอ็ด จึงจัดทำโครงการฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2561 เพื่อทำการเช่ารถยนต์ดัดแปลง จำนวน 40 คัน โดยได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ให้ก่อหนี้ผูกพันได้เกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ และอนุมัติให้ดำเนินการเช่าโดยวิธีพิเศษ และทำการก่อหนี้ผูกพัน 3 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2561) เป็นเงินทั้งสิ้น 32,429,200 บาท
พบว่า อบจ.ร้อยเอ็ด ดำเนินการเช่ารถยนต์ดัดแปลงเป็นรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ ช่วยชีวิต จำนวน 40 คัน อัตราค่าเช่าเดือนละ 953,800 บาท ผู้ให้เช่าส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่า ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 และเบิกจ่ายเงินค่าเช่างวดแรกประจำเดือน พฤศจิกายน 2557 จำนวนเงิน 953,800 บาท อบจ.ร้อยเอ็ด ทำการส่งมอบรถพยาบาลฉุกเฉินให้ อปท.ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในเดือนธันวาคม 2557 ทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินในช่วงที่ไม่ได้ส่งมอบให้ อปท.ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ตามระยะเวลาการเช่า เป็นความสูญเปล่าของการใช้จ่ายเงินของโครงการที่ขาดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 953,800 บาท
จากการสุ่มตรวจสอบการใช้รถพยาบาลฉุกเฉินของ อปท.ที่ได้รับรถจาก อบจ.ร้อยเอ็ด จำนวน 23 แห่ง พบว่า อปท.ร้อยละ 47.82 ที่สุ่มตรวจสอบ สามารถให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินได้ทันทีภายหลังจากการส่งมอบรถ เนื่องจากมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการอยู่ ก่อนที่จะได้รับสนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินจาก อบจ.ร้อยเอ็ด ส่วนร้อยละ 8.70 ที่สุ่มตรวจสอบ ไม่มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินที่ได้รับการสนับสนุนจาก อบจ.ร้อยเอ็ด มาให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และส่งรถคืน อบจ.ร้อยเอ็ด เนื่องจากไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทำให้ประชาชนเสียโอกาส
“อปท.จำนวน 20 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.96 ของ อปท.ที่สุ่มตรวจสอบ มีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการแพทย์ฉุกเฉิน เช่น การส่งเอกสาร การนำรถพยาบาลฉุกเฉินออกจากหน่วยปฏิบัติการเพื่อรับผู้ป่วยกลับบ้าน การออกปฏิบัติงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน และบางแห่งมีการนำรถพยาบาลฉุกเฉินไปใช้ไม่เป็นไปตามประกาศ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องการให้ประกาศนียบัตรและการปฏิบัติการฉุกเฉินของผู้ปฏิบัติการ พ.ศ. 2554 และไม่เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขการจัดชุดปฏิบัติการ”