นายกฯ ส่งเอกสารแจง ยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง อ้างชาติยังอยู่ในห้วงไม่ควรมีความขัดแย้ง กฏหมายลูก 2 ฉบับยังไม่เสร็จ ไม่เข้าสภา ยังไม่ได้ กกต.ใหม่ นายทะเบียนก็ไม่มี ยันทุกอย่างเดินตามโรดแมป แต่โยนประธาน สนช. กรธ. แจง กม.เสร็จเมื่อไหร่ ชี้ กม.พรรคยังเปลี่ยนได้ ขยายเวลาได้ จ่อใช้มาตรการพิเศษคลี่คลายปม
วันนี้ (7 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมแจกเอกสารชี้แจงกรณีปลดล็อกพรรคการเมืองแทนการแถลงด้วยตนเอง ซึ่งมีใจความว่า คสช.ได้พิจารณาประเมินสถานการณ์มาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว แม้กระทั่งเมื่อเช้าวันนี้ และจะประเมินต่อไปทุกระยะ ความเห็นในขณะนี้มีว่าสถานการณ์ยังไม่เรียบร้อย บ้านเมืองยังอยู่ระหว่างห้วงเวลาที่ไม่ควรมีความขัดแย้งทางการเมืองหรือทางอื่นใด กฏหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งยังไม่เรียบร้อย ยังไม่เข้าสภา กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ 7 คนก็ยังอยู่ระหว่างการสรรหาไม่รู้ว่าจะได้เมื่อไร นายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางกฏหมายพรรคการเมืองก็ยังไม่มี มีแต่ผู้รักษาการแทน จึงขอให้การปลดล็อคที่พูดกันรอไปอีกระยะ อย่าตื่นเต้น กังวล ในระหว่างนี้ คสช.ขอให้คำยืนยันว่า
1.ทุกอย่างยังเดินต่อไปตามโรดแมป คือจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับจากเมื่อกฏหมายเลือกตั้งซึ่งเป็นกฏหมายสำคัญ 1 ใน 4 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ส่วนกฏหมายจะเสร็จได้เมื่อใด ขอให้ไปถามประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
2.ส่วนที่เกรงว่าพรรคการเมืองจะทำไม่ทันภายในระยะเวลา 90 หรือ 180 วัน ตามที่กฏหมายกำหนดและจะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งนั้น คสช.ทราบเรื่องนี้ดีเพราะได้หารือกับฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาตลอด จึงคำนึงถึงอยู่แล้ว ขออย่าได้กังวล ระยะเวลาดังกล่าวเป็นเรื่องที่กฏหมายพรรคการเมืองกำหนดขึ้นไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจึงอาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมได้ ในกฏหมายพรรคการเมือง มาตรา 141 นายทะเบียนพรรคการเมืองเพียงคนเดียวก็สามารถอนุญาตให้ขยายเวลาดังกล่าวได้เป็นกรณีๆ ไป คสช.จึงจะไม่ทำให้เสียหายหรือกระทบต่อพรรคการเมืองใดๆ ไม่ว่าพรรคเก่าหรือพรรคตั้งใหม่เป็นอันขาด โดยจะใช้มาตรการพิเศษที่ คสช.มีหรืออาจใช้มาตรการอื่นๆ ทางกฏหมายตามวิถีทางรัฐธรรมนูญคลี่คลายปัญหาให้โดยจะปรึกษากับ กกต.และไม่ให้ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 หรือคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 เป็นอุปสรรค หากแต่จะให้ทุกอย่างสอดคล้องและเดินหน้าไปด้วยกันได้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง หรือความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข