กฤษฎีกา เบรก กกท. เจียดเงินกองทุนกีฬา 7.3 พันล้าน ให้ “บิ๊กป้อม” นายกว่ายน้ำ สร้างสระว่ายน้ำ - สระกระโดดน้ำมาตรฐาน มูลค่า 357 ล้านบาท ชี้ ตาม พ.ร.บ. กีฬาฯ กกท. สามารถของบปกติจากรัฐได้ แต่หากก่อสร้างศูนย์ช่วยนักกีฬาบาดเจ็บ - สถานพยาบาลในสนามกีฬา หรือสระว่ายน้ำสำหรับบำบัด ฟื้นฟูนักกีฬา ถึงจะอยู่ในเกณฑ์
วันนี้ (1 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงนามในเรื่องเสร็จที่ 1342 - 1343/2560 ในบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หลังจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้มีหนังสือ ที่ กก 5107/9509 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2560 กรณี สมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกสมาคมฯ ได้มีหนังสือถึง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ เพื่อก่อสร้างสระว่ายน้ำและสระกระโดดน้ำมาตรฐาน แข่งขัน พร้อมอัฒจันทร์ อุปกรณ์กีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยใช่พื้นที่ก่อสร้างในพื้นที่ของ กกท. รวมค่าดำเนินการทั้งสิ้น 357,439,000 บาท
โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ พิจารณาแล้ว มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ดังนี้ ฝ่ายที่หนึ่ง มีความเห็นว่า มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาฯ ยังไม่ชัดเจน ว่า จะสามารถนำเงินกองทุนฯไปใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ได้หรือไม่ ดังนั้น ในเบื้องตนจึงเห็นควรให้ กกท. ขอรับการสนับสนุนจากงบประมาณประจําปีตามปีงบประมาณของทางราชการ
ฝ่ายที่สอง มีความเห็นว่า มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 บัญญัติให้เงินกองทุนใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้ (1) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนิน กิจกรรมกีฬาทั้งในระดับชาติและนานาชาติ หรือ (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา ซึ่งทั้งสองอนุมาตรามีความหมายของการดำเนินงานที่หลากหลาย ก็อาจจะสามารถดำเนินการเรื่องการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬาได้
“แต่อย่างไรก็ตาม ควรสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของ กกท. ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ในการส่งเสริมการกีฬา หรือสำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่สำหรับการกีฬา รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ กกท. ขอหารือความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่กองทุนฯ จะมีนโยบายหรือจะกำหนดกฎหมายในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ได้หรือไม่ อย่างไร”
ต่อมา กกท. สอบถามเพิ่มเติม สรุปความได้ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560 มีมติให้ความเห็นชอบ ในหลักการตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยให้ กกท.เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 30 พ.ศ. 2562 ส่วนแหล่งที่มาของเงินตลอดจน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวของที่จะใช้ในการจัดการแข่งขันดังกล่าว อาจนำมาจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ซึ่ง พล.อ.ธนะศักดิ์ รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า จะนำหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในรายละเอียดต่อไป โดย กกท. และกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว ได้สอบว่างบประมาณจากกองทุนฯ สามารถนํามาใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์ และ โอลิมปิกเกมส์ และการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการสรางสนามกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันดังกล่าว ได้หรือไม่ อย่างไร
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ได้พิจารณาขอหารือ โดยมีความเห็น ในแต่ละประเด็นดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง กองทุนฯจะให้เงินกองทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนา ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง ได้หรือไม่ อย่างไร เห็นว่า มาตรา 361 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนฯขึ้นใน กกท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเพื่อการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา คุ้มครอง ช่วยเหลือและจัดสวัสดิการที่เกี่ยวของกับการกีฬา
“ส่วนการใช้จ่ายเงินของกองทุนฯ ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไวในมาตรา 422 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ซึ่งตามมาตรา 42 ดังกล่าว สามารถแยกลักษณะของการนำเงินกองทุนไปใช้จ่ายได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ (1) เพื่อการดำเนินกิจกรรมกีฬา (2) เพื่อตัวนักกีฬา บุคลากรกีฬา และสมาคมกีฬา โดยการพัฒนานักกีฬา การเตรียมนักกีฬา การสนับสนุน เงินรางวัล การสนับสนุนทุนการศึกษา และการช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และ (3) การส่งเสริม สนับสนุนกีฬามวยและกีฬาอาชีพ”
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 8) ระบุด้วยว่า ซึ่งจากลักษณะของการใช้จ่ายเงินกองทุนตามมาตรา 42 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้มีการใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อประโยชน์ของตัวนักกีฬา และบุคลากรกีฬาเป็นส่วนใหญ่ โดยมิได้มีบทบัญญัติใดที่บัญญัติให้ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อพัฒนา ในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรืองบลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้างไดโดยตรงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี การที่จะนำเงินกองทุนบางส่วนไปใช้ในกรณีดังกล่าว เช่น ใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างศูนย์ช่วยเหลือนักกีฬาที่ประสบอุบัติเหตุจากการกีฬา สถานพยาบาลในสนามกีฬา หรือสระว่ายน้ำสำหรับบำบัด ฟื้นฟูนักกีฬาและบุคลากรกีฬา ซึ่งสอดคลองกับวัตถุประสงค์และลักษณะของการใช้จ่ายเงินกองทุนก็ย่อมอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จะพิจารณาให้ใช้จ่ายได้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม
“โดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักและภาระของกองทุน รวมทั้งต้อง สอดคลองกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ประกาศกำหนดด้วย อนึ่ง ในเรื่องของการพัฒนาในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการกีฬา หรือการลงทุน ประเภทที่ดิน สิ่งก่อสร้าง มาตรา 8 (5) แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ไดบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของการกีฬาแห่งประเทศไทย ที่สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินหรือขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งในการดำเนินการสำรวจ จัดสร้าง และบูรณะสถานที่ได้โดยตรงอยู่แล้ว”
ประเด็นที่สอง กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถให้การสนับสนุนงบประมาณ ในการเป็นเจาภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ และการปรับปรุง ซ่อมแซม หรือการสร้างสนามกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันดังกล่าว ได้หรือไม่ อย่างไรนั้น เห็นว่า ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าวนั้น มีกิจกรรมทั้งที่เกี่ยวกับกีฬาและนักกีฬาโดยตรง และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาดังกล่าวหลายประการ เช่น การให้รางวัล หรือสิทธิประโยชน์แก่นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน การปรับปรุง ซ่อมแซม หรือสร้าง สนามกีฬาเพื่อรองรับการจัดการแข่งขัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม การก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้เป็นบ้านพักนักกีฬาและบุคลากรกีฬาในระหว่างการจัดการแข่งขัน หรือการสร้าง สาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการจัดการแข่งขัน เป็นต้น
“จะเห็นได้ว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานั้น มีทั้งกิจกรรมที่อยู่และไม่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์และลักษณะ การใช้จ่ายเงินของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ดังนั้น ในการพิจารณาให้การสนับสนุนเพื่อรองรับ การจัดการแข่งขันกีฬาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ที่จะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆ ไป ตามที่ได้ให้ความเห็นไว้แล้วในประเด็นที่หนึ่ง”
มีรายงานว่า สำหรับงบประมาณของกองทุนฯ พบว่า งบปี 2559 มีเงินคงเหลือ 3,363,647,920.46 บาท ขณะที่งบปี 2560 คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เห็นชอบในวงเงิน 3,999,900,000 บาท ส่วนปีงบ 2561 คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ เห็นชอบ เห็นชอบในวงเงิน 3,999,900,000 บาท ขณะที่ตั้งแต่ปี 2560 กองทุนฯ ได้รับงบจากภาษีบาป (สุรา ยาสูบ) เข้ากองทุน อีกว่า 4,000 ล้านบาท โดยกองทุนมีงบสะสมกว่า 7.3 พันล้านบาท