xs
xsm
sm
md
lg

มีผลแล้ว! ยุบรวม “กองทุนกีฬา-กองทุนมวย” เป็นหนึ่งเดียว อยู่ในกำกับ “บอร์ดกีฬาชาติ”- รายงาน “ครม.- รัฐสภา” ทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


มีผลแล้ว! ยุบรวม “กองทุนกีฬา - กองทุนมวย” เป็นหนึ่งเดียว อยู่ในกำกับ “คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย” มีนายกฯ หรือ รองนายกฯด้านกีฬา นั่งประธาน มีกรรมการคนกีฬา “ปธ.โอลิมปิก / ปธ.พาราลิมปิก - ตัวแทนนายก 77 สมาคม - นายกสมาคม 76 จังหวัด” พ่วง 5 ปลัดกระทรวง เผย บอร์ดบริหารกองทุน ต้องรายงาน ครม.- รัฐสภา ภายใน 180 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี

วันนี้ (10 ต.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎหมายที่ควบคุมการกีฬาของประเทศฉบับใหม่ ภายใต้ชื่อ พระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้มี “คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ มี รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นรองประธานกรรมการ

ขณะที่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ กรรมการอื่น ยังรวมถึง ผู้แทนสมาคมกีฬา 77 สมาคม ที่ใช้คำว่า “แห่งประเทศไทย” ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของนายกสมาคมกีฬา จำนวนหนึ่งคน ผู้แทนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัด จำนวนหนึ่งคน และ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคน โดยให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านกฎหมาย การแพทย์ การบริหารการกีฬา หรือวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นกรรมการ โดย ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นกรรมการและเลขานุการ

มีรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี 1 ตุลาคม 2558 เห็นชอบให้ควบรวมกองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ และกองทุนกีฬามวยเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 63/2559 เรื่อง การส่งเสริมสนับสนุนและปฏิรูปการกีฬาของประเทศ ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2559 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 เพื่อควบรวมกองทุนทั้งสามกองทุนดังกล่าวแล้ว

สำหรับกฎหมายฉบับใหม่ ให้แก้ไขว่า “มาตรา (7/1) เงินที่โอนมาโดยผลของกฎหมาย (7/2) เงินที่ได้จากค่าธรรมเนียมและค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยกีฬามวย และ (7/3) เงินค่าปรับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมกีฬาอาชีพ”

แก่ไขมาตรา “(5/1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของกองทุนเพื่อการส่งเสริม และสนับสนุนกีฬามวยตามกฎหมายว่าด้วยกีฬามวยและกีฬาอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม กีฬาอาชีพ” และ มาตรา 6 ให้เพิ่มความต่อไปนี้ เป็นมาตรา 48/1 แห่งพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558

“มาตรา 48/1 ให้คณะกรรมการบริหารกองทุน ทำรายงานประจำปีของกองทุนเสนอ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี รายงานนี้ให้กล่าวถึงผลงานของกองทุนในปีที่ล่วงมาแล้ว พร้อมทั้งงบการเงิน และรายงานของผู้สอบบัญชี”

มีรายงานด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ “อดีตนักมวยอาชีพ” ที่เคยได้รับสวัสดิการจากกองทุนมวย จะต้องติดต่อ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย แทน สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งล่าสุดมีการรับทราบรายงานสถานการณ์เงินกองทุนกีฬามวย ณ วันที่ 31 มกราคม 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 101,611,696.33 บาท โดยเป็นเงินทุนสำรอง จำนวน 28,630,056.84 บาท และเงินที่จัดสรรเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนกีฬามวย จำนวน 72,981,634.49 บาท

สำหรับ “กองทุนส่งเสริมกีฬาอาชีพ” ในอดีตมีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เข้ามาช่วยเติมเต็มงบประมาณบางส่วนที่ขาดไปนอกเหนือจากการได้รับอุดหนุนต่อปี ซึ่ง 3 ปีหลังสุด (2557 - 2559) กีฬาอาชีพของไทย ได้รับจัดสรรงบปีละ 300 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีการตั้งของบประมาณอุดหนุน 250 ล้านบาท แต่ถูกคำสั่ง หน.คสช. ยุบรวมกองทุนก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น