xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ถกความคืบหน้า กม.ที่ค้างอยู่ ย้ำยึดกรอบเวลา เคร่งปมต่างด้าว-น้ำ โต้ถังแตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
“ประยุทธ์” เรียกรองนายกฯ-รมต.-ประธาน สนช.-กฤษฎีกา ติดตามความคืบหน้างาน กม.ที่ยังค้างอยู่ เลขาฯ กฤษฎีกาเผยนายกฯ กำชับพิจารณากฎหมายตามกรอบเวลาเท่านั้น “วิษณุ” ระบุนายกฯ สั่งเคร่งครัด กม.แรงงานต่างด้าว-ทรัพยากรน้ำ ต้องเปิดรับฟังความเห็นตาม ม.77 พร้อมยัน รบ.ไม่ได้ถังแตก หน้ามืด ไล่เก็บค่าน้ำเกษตรกร

วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอาชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางเข้าปฏิบัติงานทำเนียบรัฐบาลตามปกติ ตลอดทั้งวันนายกฯ ไม่มีกำหนดวาระงานทั้งในและนอกทำเนียบรัฐบาลแต่อย่างใด เมื่อนายกฯ เดินทางเข้ามาได้สักพัก ได้เรียกนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีอื่นๆ เช่น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และนายวิสุทธิ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ.ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าหารือที่ห้องเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาการหารือเกือบ 3 ชั่วโมง

ต่อมาเวลา 11.50 น. นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า นายกฯ ไม่ได้สอบถามหรือเร่งรัดในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการติดตามสอบถามความคืบหน้ากฎหมายต่างๆ ที่อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายกฯ ได้กำชับกฤษฎีกาให้พิจารณากฎหมายตามกรอบระยะเวลาเท่านั้น

จากนั้นนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เป็นเรื่องที่นายกฯ ได้แจ้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาก่อนแล้วว่า โรดแมประยะเวลาที่เหลือจากนี้ไปมีประมาณเท่าไหร่ ต้องการจะติดตามความคืบหน้าของกฎหมายฉบับต่างๆ วันนี้กฎหมายที่รัฐบาลได้เสนอ สนช.และออกมาใช้บังคับแล้ว มีประมาณ 250 ฉบับ และยังเหลืออีกกี่ฉบับที่จะไปสภา ขณะนี้ค้างอยู่ที่กฤษฎีกากี่ฉบับ และจะใช้เวลาที่เหลืออยู่ประมาณ 1 ปีนี้สามารถดำเนินการไปได้ขนาดไหน เพราะไม่ใช่จะไปสภาในเดือนสุดท้ายของปี 61 แต่ต้องไปก่อน เพราะต้องใช้เวลานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายและประกาศใช้ได้ทัน จึงนั่งไล่กันในวันนี้ และขอให้รัฐมนตรีบางท่านช่วยไปกำกับ กำชับเจ้าหน้าที่ของตนในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะกฤษฎีการายงานว่า บางทีที่ช้าเพราะบางทีตรวจเสร็จส่งให้กระทรวงยืนยันพอใจหรือไม่ แต่กระทรวงไม่ยืนยันสักที หรือไม่ก็ช้าเพราะเวลากฤษฎีกาตรวจ เชิญผู้แทนกระทรวงมาชี้แจงก็ไม่ได้ส่งระดับอาวุโส หรืออธิบดีที่มีอำนาจตัดสินใจมา พอกฤษฎีกาถาม ตกลงจะเอาอย่างนี้หรือไม่ ก็ต้องขอกลับไปตามกระทรวง และหายไปเป็นเดือน วันนี้จึงต้องมาติดตามความคืบหน้าเหล่านี้

เมื่อถามว่า เป็นห่วงกฎหมายฉบับไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีอะไรมากเป็นพิเศษ แต่ที่มีการพูดถึงคือเรื่องกฎหมายแรงงานต่างด้าว เพราะคำสั่ง คสช.ได้ยืดไปจนถึงสิ้นปีนี้ วันนี้ได้ส่งไปให้กฤษฎีกาทำ จึงอยากรู้ความคืบหน้าไปถึงไหน จะออกมาทันหรือไม่ และนายกฯได้กำชับว่า ขอให้ทุกฝ่ายเคร่งครัด ทำตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในการเปิดรับฟังความคิดเห็น มีกฎหมายบางฉบับที่ส่งไปที่กฤษฎีกา และกระทรวงอ้างว่าได้รับฟังความเห็นมาแล้ว แต่การฟังนั้นยังไม่หลากหลาย จึงขอให้กฤษฎีกาช่วยฟังความเห็นเพิ่มเติม หรือส่งคืนให้กระทรวงไปทำ และถ้าบางฉบับไปสภาโดยที่ไม่ได้ฟังความเห็นมาก่อน เช่น กฎหมายทรัพยากรน้ำก็อาจจะให้สภาช่วยกรุณารับฟัง ได้คุยกันแล้วในส่วนนี้ และนี่เป็นสิ่งที่เป็นห่วง

เมื่อถามว่า กฎหมายแรงงานต่างด้าวมีความคืบหน้าหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้เกือบเสร็จแล้ว ในเดือน พ.ย.คงจะเสร็จเรียบร้อย และการประกาศใช้มีได้ 2 ทาง คือ ออกเป็นพระราชกำหนดและการเสนอสภา ถ้าเสร็จในสภาก็จะช้าออกไปก็อาจจำเป็นต้องออกเป็นพระราชกำหนด แต่นั่นคงไม่สำคัญเท่าที่กับที่นายกฯ กำชับว่าก่อนที่จะบอกว่าเสร็จแล้วส่งมา ช่วยรับฟังความเห็นจากคนที่ต่อต้านคัดค้านอยู่ก่อนหน้านี้ว่าไม่เป็นธรรม เช่น การปรับ 4-8 แสนบาท ให้ไปฟังความเห็นสักหน่อย เขาฟังแล้ว นายกฯ จึงขอให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงที่กฤษฎีกาซึ่งเขาก็รับไปทำ

นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับกฎหมายทรัพยากรน้ำที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ สนช.เป็นกฎหมายที่ไปสภาตั้งแต่ยังไม่ทันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตอนนั้นยังไม่มีมาตรา 77 จึงยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น วันนี้จึงได้ตกลงกันว่าให้คณะกรรมการไปจัดการรับฟังความคิดเห็นด้วย และหลักการได้พูดกันว่าไม่มีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับการเก็บค่าน้ำเกษตรกรอย่างที่ไปพูดกันเป็นอันขาด โดยจะเก็บเฉพาะโรงอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำเยอะ และกฎหมายวันนี้พูดกันชัดเจน “รัฐไม่มีเจตนารมณ์ ไม่ได้หน้ามืด ตาบอดหูบอดต้องการเก็บค่าน้ำ หรือถังแตก กฎหมายนี้เป็นกฎหมายจัดสรรทรัพยากรน้ำ ไม่ใช่กฎหมายเก็บสตางค์ค่าน้ำ” และขณะนี้กฎหมายดังกล่าวได้ดำเนินการไป ไม่ได้มีการให้ชะลอ ส่วนการรับฟังความคิดเห็นทางสภาก็มีกรอบเวลา ส่วนเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับไม่ได้มีการหารือ เพราะไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล เป็นเรื่องของ สนช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ซัดรัฐบาลออกกม.ไม่รอบคอบ ทำแรงงานต่างด้าวป่วนหนัก
ไก่อูยันรัฐบาลใส่ใจปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว พร้อมรับฟังความเห็นผู้ประกอบการ แนะต้องร่วมกันแก้ไขทั้งระบบ ยืนยันดูแลแรงงานไทยเท่าเทียม วอนอย่าหลงเชื่อวาทกรรมโจมตีรัฐ องอาจแนะรัฐบาลเร่งคุยเพื่อนบ้าน ลดขั้นตอนทำแรงงานให้ถูกกม. อุเทน ชี้ออก ม.44 เว้นบางมาตราในพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว สะท้อนความสะเพร่าของฝ่ายกฎหมาย-เนติบริกร ทำ คสช.ต้องขายขี้หน้าอีกครั้ง แรงงานพม่ายังคงเดินทางกลับบ้านเกิดผ่านด่านฯ แม่สอด-เมียวดี ต่อเนื่องวันละเป็นหมื่นๆ คน ทั้งกลับไปร่วมงานบุญเข้าพรรษา หนีผลกระทบกฎหมายแรงงานใหม่ไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น