xs
xsm
sm
md
lg

ที่ประชุมผู้ตรวจฯ รับคำร้อง “สมชัย” ยื่นชงศาล รธน.วินิจฉัยเซตซีโร่ กกต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยที่ประชุมรับคำร้อง “สมชัย” ยื่นขอชงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ม.70 กฎหมายลูก กกต.ให้เซตซีโร่กรรมการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จ่อส่งหนังสือแจ้ง สนช. ด้าน กรธ.แจงยันมีหน้าที่วินิจฉัยเบื้องต้น ไม่เอาประเด็นผู้ตรวจฯ ได้อยู่ครบมาพิจารณา พร้อมเร่งร่างระเบียบรับรอง

วันนี้่ (10 ต.ค.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวภายหลังการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ที่ประชุมมีมติรับคำร้องที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ยื่นขอให้พิจารณาและส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 70 ของ พ.ร.ป.กกต. กรณีให้เซตซีโร่ กกต.ชุดปัจจุบัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว หลังจากนี้ก็จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องคือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ยื่นคำชี้แจงกลับมาโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีความเห็นเรื่องดังกล่าวก่อนกระบวนการสรรหา กกต.จะเริ่มขึ้นหรือไม่ เพราะเห็นว่าต่างคนต่างก็มีหน้าที่ของตนเอง

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาของผู้ตรวจฯ ไม่ได้รู้สึกหนักใจแม้จะทำหน้าที่เหมือนคนกลาง แต่ก็ไม่ใช่บุรษไปรษณีย์ โดยเรามีอำนาจที่จะวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนตามศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า โดยหน้าที่ของผู้ตรวจสามารถวินิจฉัยคำร้องได้เบื้องต้นว่ามีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าไม่มีก็ต้องยุติเรื่องและชี้แจงเหตุผลให้สังคมทราบ เช่นเดียวกันหากเห็นว่ามีปัญหาก็ต้องชี้แจงว่าทำไมจึงต้องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น การพิจารณาจึงอยู่บนพื้นฐานการยึดข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายเป็นหลักว่าเนื้อหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร เพราะก็เขียนเปิดช่องให้ทำได้ทั้งเซตซีโร่ รีเซต และให้อยู่ครบวาระ แต่การพิจารณาก็จะไม่เอาประเด็นเรื่องที่ผู้ตรวจฯ ได้อยู่ครบวาระตามร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาเป็นปัจจัยในการพิจารณาวินิจฉัย

ทั้งนี้ นายรักษเกชา ยังกล่าวด้วยว่าขณะนี้ทางผู้ตรวจฯ ก็ได้เร่งพิจารณาร่างระเบียบต่างๆ ที่จะต้องออกมาเพื่อรองรับหากร่าง พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดินมีผลบังคับใช้ เพราะเนื้อหากฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ ไปพอสมควรจึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้ทันสมัยรองรับการทำงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น