xs
xsm
sm
md
lg

มติ กกต.ชงปมจริยธรรม “ธีรวัฒน์” ให้ ป.ป.ช.สอบต่อตามที่ รธน.60 ระบุ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจพรรคการเมือง (แฟ้มภาพ)
กกต. เคาะมติส่งปมจริยธรรม “ธีรวัฒน์” ให้ ป.ป.ช. สอบต่อหลัง รธน. 60 ประกาศใช้ ระบุชัดเป็นอำนาจ ป.ป.ช. ไม่ใช่หน้าที่ผู้ตรวจฯ

วันนี้ (18 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา กกต. มีมติให้ส่งเรื่องการตรวจสอบจริยธรรมของ นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. ด้านกิจพรรคการเมือง จากกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยว่า นายธีรวัฒน์ มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำผิดจริยธรรมร้ายแรงไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการแทน เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันมาตรา 234 (1) บัญญัติให้การตรวจสอบการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช. ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินดังรัฐธรรมนูญ 50

ทั้งนี้ ก่อนการมีมติดังกล่าว นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่ที่ประชุม กกต. เมื่อวันที่ 28 มี.ค. มีมติเห็นชอบ โดยมี นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นประธาน แต่ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่เมื่อวันที่ 6 เม.ย. และคณะกรรมการที่มีการตั้งขึ้นยังไม่ได้มีการประชุม ทางสำนักกฎหมายของสำนักงาน กกต. จึงเสนอประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งก็มีความเห็นว่าการตรวจสอบจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญใหม่เป็นอำนาจของ ป.ป.ช. กกต.จึงสามารถที่ส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ก.ย. 59 ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย นายศรีราชา วงศารยางค์กูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินในขณะนั้น ได้มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินที่เห็นว่า นายธีรวัฒน์ มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อเนื่องจนดำรงตำแหน่ง กกต. จริง ตามที่ประธานสภาพัฒนาการเมืองได้ยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบมายังประธาน กกต. ในฐานะผู้บังคับบัญชาของนายธีรวัฒน์ เพื่อให้ดำเนินการตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ กกต. กกต.จังหวัด และพนักงาน กกต.พ.ศ. 2551 แต่ติดขัดในเรื่องการหาบุคคลมาทำหน้าที่กรรมการสอบสวนที่ต้องมีคุณสมบัติสูงกว่า หรือเทียบเท่ากับผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งต้องได้รับอนุญาตจากองค์กรต้นสังกัด จึงทำให้การแต่งตั้งล่าช้า และเมื่อได้ตัวบุคคลมาทำหน้าที่ก็มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่บัญญัติให้อำนาจในการไต่สวนเรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นของป.ป.ช. โดยตรง กกต. จึงมติส่งเรื่องดังกล่าวไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น