xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิชาการเกษตร ยันแก้ กม.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ เกษตรกรไทย ได้ประโยชน์เต็มๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (แฟ้มภาพ)
กรมวิชาการเกษตร แจงแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯ เกษตรกรไทย-ชุมชน ได้ประโยชน์เต็มๆ สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ พร้อมยังคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืช เหตุ กม.ฉบับเก่าไม่ครอบคลุมในหลายประเด็น ปัดเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทข้ามชาติ ปิดทางผูกขาดพันธุ์พืชแน่นอน

วันนี้ (7 ต.ค.) นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกระแสข่าวการปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บรรษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและเพิ่มการผูกขาดพันธุ์พืชว่า เนื้อหาของ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯฉบับเดิมนั้น ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช 3 ระบบ ประกอบด้วย ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ ที่เป็นการคุ้มครองเชิงทรัพย์สินทางปัญญา ให้สิทธิกับนักปรับปรุงพันธุ์พืช ระบบการจดทะเบียนพันธุ์พืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่น ให้สิทธิความเป็นเจ้าของกับชุมชน และระบบการแจ้งและอนุญาตให้ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า เพื่อการศึกษา ทดลอง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งเป็นการคุ้มครองเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนคุ้มครองพันธุ์พืชที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เมื่อบังคับใช้กฎหมายมาสักระยะหนึ่งพบว่ามีข้อติดขัดทั้งในด้านกระบวนการปฏิบัติงานและการบังคับใช้กฎหมาย และยังขาดสาระสำคัญบางประการทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ มีข้อจำกัดในเรื่องโอกาสการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อีกทั้งไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้อนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนาที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า ส่งผลให้ไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาเท่าที่ควร จึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติ โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับเดิมทุกประการ

นายสุวิทย์กล่าวต่อว่า การปรับแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วนในหลายประเด็น กล่าวคือ 1. เกษตรกรผู้ค้าหรือผู้ปลูก มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เหมาะสมใช้เพาะปลูกตามความต้องการ ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกร ทำให้อาชีพเกษตรกรผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งพืชไร่และผัก จะได้รับความสนใจมากขึ้น 2. นักปรับปรุงพันธุ์พืชไทย มีแรงจูงใจในการลงทุนวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีแหล่งพันธุกรรมที่มีความหลากหลายใช้ในการปรับปรุงพันธุ์มากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และจะมีจำนวนนักปรับปรุงพันธุ์เพิ่มมากขึ้น 3. ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมแปรรูป มีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกซื้อผลิตผลและผลิตภัณฑ์พืชได้ตรงกับความต้องการ มีพันธุ์พืชใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และ 4. การลงทุนด้านเมล็ดพันธุ์พืช มีการขยายการลงทุนทั้งเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ทั้งนี้การดำเนินการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่า จะมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม 40 มาตราทั้งหมดที่มี 69 มาตรา ตลอดจนการรับฟังความเห็นของเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่กังวลว่า จะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะสูงขึ้น และการกระทำผิดโดยไม่รู้ ซึ่งต่อมากรมวิชาการเกษตรก็ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรมีความเข้าใจและไม่คัดค้านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

“ตอนนี้ในเว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฯฉบับแก้ไข ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา และจะปิดการรับฟังในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเสนอกฎหมายของหน่วยงาน ซึ่งจะต้องให้กระทรวงพิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหาก ครม. เห็นชอบ ก็จะส่งร่างฯ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในขั้นตอนสุดท้าย” นายสุวิทย์ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น