“พาณิชย์” เผยผลตรวจสอบล้งที่มีต่างชาติเข้ามาร่วมทุน ยังไม่พบการทำผิดกฎหมาย แต่จะเน้นตรวจสอบถี่ขึ้นในช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาดมาก โดยเฉพาะลำไยและทุเรียนที่ตลาดต่างประเทศต้องการ
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนของผู้รวบรวมผลไม้ (ล้ง) ที่จดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้กับกรมวิชาการเกษตร มีจำนวนทั้งสิ้น 391 ราย แบ่งเป็นล้งบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย จำนวน 236 ราย ล้งนิติบุคคลที่คนไทยถือหุ้น 100% จำนวน 116 ราย ล้งที่เป็นวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ จำนวน 7 ราย ล้งที่ร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 51% ในกรณีนี้ถือว่าเป็นนิติบุคคลไทย จำนวน 32 ราย ซึ่งเป็นการร่วมทุนจากจีน 26 ราย อินเดีย 2 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย ลักเซมเบิร์ก 1 ราย และฮ่องกง 1 ราย ซึ่งล้งทั้งหมดนี้ สามารถรับซื้อผลไม้เพื่อการจำหน่ายในประเทศและสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้ พ.ศ. 2553
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจล้งผลไม้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และป้องกันเหตุความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจรับซื้อผลไม้ของไทยในภาพรวม กรมฯ ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการประกอบธุรกิจของล้งผลไม้อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือนอมินี และดำเนินธุรกิจหลีกเลี่ยงกฎหมาย โดยได้มีการตรวจสอบธุรกิจให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 และตรวจสอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 อย่างเคร่งครัดเป็นประจำ
“กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบล้งผลไม้ โดยเฉพาะล้งที่เข้ามาร่วมลงทุนกับคนไทยในการรับซื้อผลไม้ และจะเน้นเป็นพิเศษในช่วงที่ผลไม้ออกสู่ตลาด โดยช่วงที่ลำไย และทุเรียนออก เนื่องจากผลไม้ทั้ง 2 ชนิดเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีล้งร่วมลงทุนที่มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว
น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า กรมฯ ยังมีแผนในการส่งเสริมและสนับสนุนล้งไทยให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ โดยได้กำหนดพัฒนาศักยภาพล้งไทยให้มีความเข้มแข็งและต่อยอดองค์ความรู้โดยใช้นวัตกรรมช่วยในการขยายตลาด เช่น การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-คอมเมิรซ์ รวมทั้งสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินแก่ล้งไทยให้มีเงินทุนในการพัฒนาและขยายกิจการเพื่อรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนการหาตลาดรองรับผลผลิตผลไม้ไทย ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้แสวงหาตลาดใหม่ๆ แทนตลาดเดิม เช่น อาเซียน ตะวันออกกลางและอินเดีย เพื่อไม่ให้การส่งออกเกิดการกระจุกตัวตลาดใดตลาดหนึ่ง และยังได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ช่วยชี้แจงเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ให้ปลูกผลไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด และมีปัญหาในเรื่องราคา รวมทั้งผลักดันให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อขายด้วย