xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีขีดความสามารถแข่งขันไทย ขยับ 2 อันดับ ครอง 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


World Economic Forum เปิดดัชนีขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ดีขึ้น 2 อันดับ ครองอันดับ 32 จาก 137 ประเทศทั่วโลก คะแนนดีขึ้นทั้งหมด โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐาน เผยประเทศไทยยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่อันดับ 1 ของโลก คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามด้วยสหรัฐฯ

วันนี้ (27 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า นายพสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชย์ศาตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะพันธมิตรของ World Economic Forum หรือ WEF ในประเทศไทย เปิดเผยรายงานดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

http://reports.weforum.org/global-competitiveness-index-2017-2018/competitiveness-rankings/

ทั้งนี้ เป็นเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขัน 137 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่า คะแนนเต็ม 7 คะแนน ปีนี้ประเทศไทยได้ 4.7 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.1 จากปีที่ผ่านมา ที่ได้ 4.6 คะแนน ทำให้อันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันของไทยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 32 จากปีที่แล้วอยู่ในอันดับที่ 34 โดยอันดับที่ดีขึ้นมาจากโครงสร้างพื้นฐานของไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งคุณภาพถนน โครงสร้างระบบราง ท่าเรือ การขนส่งทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัดส่วนการเป็นสมาชิกโทรศัพท์มือถือ ไทยขยับขึ้นมาจากอันดับ 55 ปีที่แล้ว มาอยู่อันดับ 5, อัตราการเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา จากอันดับที่ 84 มาอยู่ที่อันดับ 8 ของโลก รวมถึงมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ไทย ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 20 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมากเช่นกัน

นอกจากนี้ อันดับของประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับดีขึ้นอีกหลายประเด็น ทั้งด้านประสิทธิภาพแรงงาน ด้านสภาพแวดล้อมด้านหน่วยงาน ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม ด้านสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหาภาคและที่สำคัญคือด้านนวัตกรรม และด้านความพร้อมเทคโนโลยี ที่ได้รับการจัดอันดับที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ด้วย ทำให้ปีนี้ WEF ไม่มีคำแนะนำประเทศไทยแบบเฉพาะเจาะจง แต่ให้คำแนะนำทั่วไป คือ การใช้นวัตกรรมควรพัฒนาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม อันดับความสามารถการแข่งขัน ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ร่วงลงมาจากอันดับ 2 อยู่ที่ 3 และมาเลเซีย ปรับขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 25 จากเดิม 33 ขณะที่อินโดนีเซีย อยู่ที่ 4 แต่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 36 จาก 41 เมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อันดับ 1 ของโลก คือ สวิตเซอร์แลนด์ ตามด้วยสหรัฐฯ

มีายงานว่าสำหรับ การประกาศผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดย WEF ปี 2017-2018 โดยเฉพาะการจัดอันดับของ WEF ในปีหน้า WEF จะประกาศใช้เกณฑ์ชี้วัดใหม่ โดยปรับเปลี่ยน ดังนี้ 1. จัดหมวดหมู่ใหม่ ปรับตัวชี้วัด รวมถึง Pillars ต่างๆ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาของโลกที่เปลี่ยนไป 2. ทั้ง 12 Pillars มีน้ำหนักเท่ากัน จากเดิมที่มีการถ่วงน้ำหนัก 3. ไม่มีการแบ่งกลุ่มประเทศ จากเดิมที่แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มตามระดับการพัฒนา

โดยเกณฑ์ชี้วัดใหม่ที่ WEF กำลังจะประกาศใช้ ให้ความสำคัญกับด้านนวัตกรรมมากขึ้น เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution)โดยการแบ่งด้าน (Subindex) จากเดิมที่มี 3 ด้าน เป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1. สภาพแวดล้อมด้านปัจจัยเสริม (Enabling Environment) ที่ยังคล้ายกับด้านปัจจัยพื้นฐานในโครงสร้างเก่า ซึ่งประกอบไปด้วย Pillars สถาบัน โครงสร้างพื้นฐาน และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่วน Pillar สุขภาพและการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถูกแยกออกมาอยู่ในด้านทรัพยากรมนุษย์ 2. ทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ถูกแยกออกมาเป็น 1 ด้านใหญ่ เพื่อดูความสามารถในการแข่งขันด้านคนโดยเฉพาะ ประกอบไปด้วย Pillar ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ และการศึกษาและทักษะ ซึ่งแยกเป็นทักษะของแรงงานในปัจจุบัน และแรงงานในอนาคต 3. ตลาด (Market) ที่ดูครอบคุมทั้ง 3 ตลาด ทั้ง สินค้า แรงงาน และการเงิน และ 4. สภาพแวดล้อมด้านนวัตกรรม (Innovation ecosystem) เห็นได้ชัดว่า WEF ให้ความสนใจค่อนข้างมาก เนื่องจากเดิมมี Pillar ในด้านนวัตกรรมเพียง 2 Pillars ปรับเป็น 4 Pillars ได้แก่ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ขนาดตลาด พลวัตรทางธุรกิจ และสมรรถนะทางนวัตกรรม

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาด้านที่ 3 ที่ WEF ให้คะแนน คือ ปัจจัยด้านนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ (Innovation and Sophistication Factors) ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น 2 Pillars ได้แก่ 1. ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ (Business sophistication) 2. นวัตกรรม (Innovation).





กำลังโหลดความคิดเห็น