xs
xsm
sm
md
lg

“ภัทระ” ปูด เจอใส่ร้าย-อุปสรรคเพียบขวางสอบบิ๊กสื่อเคลมลูกน้องสาว ลั่นเดินหน้าต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภัทระ คำพิทักษ์ (แฟ้มภาพ)
อดีตนายกสื่อฯ และ กรธ. โพสต์อุปสรรคมากมายทั้งถูกข่มขู่ - ปิดปาก หลังสมาคมนักข่าวฯพยายามตั้ง กก. ตรวจสอบบึ๊กสื่อ โอดตัวเองถูกใส่ข่าวรับใช้ทหาร หวังเป็นใหญ่และมุ่งยึดสถาบันอิศรา ลั่นถือเป็นบทพิสูจน์แมลงวันต้องตอมแมลงวัน

วันนี้ (21 ก.ย.) นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และกรธ. โพสต์แสดงความเห็นกรณี การตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงคุกคามทางเพศ ว่า “ขออภัยและให้อภัย” การที่กรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตั้งกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีที่เกิดปัญหาที่ควรได้รับความกระจ่างในศูนย์ข่าวอิศรานั้น เป็นบทพิสูจน์หนึ่งว่า แนวคิดเรื่องการควบคุมตรวจสอบกันเองยังใช้ได้อยู่ เรื่องนี้สำคัญมาก

นายภัทระ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมิได้เป็นแต่เรื่องจริยธรรมหรือเรื่องกฎหมาย ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ มันเป็นความท้าทายต่อระบบการตรวจสอบควบคุมกันเองของสื่อมวลชน เพราะคนที่ถูกพาดพิงเรื่องนี้เป็นบิ๊กสื่อ สมาคมนักข่าวฯใช้เวลาสัปดาห์กว่า ถึงตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ระหว่างเวลานั้นมีหลายเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจและน่าตกใจ มีการใช้ทนายออกมาข่มขู่ ปิดปากคนอื่น มีการไปล็อบบี้เพื่อไม่ให้บางคนตอบรับเป็นกรรมการ มีการอ้างเหตุว่ามีการดำเนินการในทางกฎหมายกับคนที่ชี้เป้าว่าผู้ถูกกล่าวหาในกรณีคือใครแล้ว ฉะนั้น กรรมการไม่ควรตั้งกรรมการมาดำเนินการอีก มีการออกแถลงการณ์ของสถาบันอิศรารับรองความดีงามของกันเองซึ่งเท่ากับปฏิเสธการตรวจสอบ ฯลฯ

“เรียกว่ามีกระบวนการจัดการ และมีการอธิบายความว่า ถูกใส่ร้ายจากกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์อย่างเป็นระบบ น่าศึกษายิ่งว่า ทำไมแค่การตั้งกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงกลับเป็นเรื่องลำบากยิ่งถึงเพียงนี้ ทั้งๆที่โดยหน้าที่แล้วการเป็นสื่อมวลชนคือ การแสวงหาข้อเท็จจริง แต่การหาข้อเท็จจริงของสื่อและองค์กรสื่อกลับยากเย็นแสนเข็ญ เหตุเกิดกับบิ๊กสื่อคราวนี้จึงเป็นบททดสอบที่สำคัญยิ่งว่าหลักการตรวจสอบกันเองยังใช้ได้อยู่หรือเปล่าเรื่องนี้สำคัญต่อสังคมและตัวผมเองมาก” นายภัทระ กล่าว

นายภัทระ กล่าวต่อว่า ในทางสังคมนั้น สังคมไว้วางใจสื่อแต่ก็ไม่มากเช่นเมื่อก่อนแล้ว จึงมีเสียงร่ำๆ ว่าน่าจะใช้กฎหมายคุมสื่อ มาโดยตลอด การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ ได้เลิกหลักการการให้สื่อควบคุมกันเองมาเป็นให้ควบคุมกันเองโดยกฎหมาย ตนยังยืนยันว่า สื่อไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย ซ้ำยังมีความรับผิดชอบทางกฎหมายที่นับแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การเอาสื่อขึ้นโรงขึ้นศาลโดยตรงซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อขยาดที่สุดนั้นดีกว่าให้สื่อเอากฎหมายมาตรวจสอบควบคุมกันเอง อธิบายหลักนี้ ต่อสู้ในหลักนี้จนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันวางใจให้ใช้แนวนี้บรรจุไว้เป็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดเรื่องกับบิ๊กสื่อแล้ว องค์กรสื่อไม่กล้าตรวจสอบบิ๊กสื่อ ผมยังจะมีหน้าไปอ้าปากไปพูดเรื่องนี้กับใครได้อีก อย่างเดียวที่จะทำได้คือ ไปตลาดซื้อปี๊บมาคลุมหัว

“ผมไม่รู้ว่า เมื่อมีเหตุในองค์กร แล้วเราจะอ้างความเชื่อในเรื่องความดีงามของเราที่มีต่อคนในองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบชาวบ้าน โดยไม่ยอมรับการตรวจสอบนั้นจะเรียกว่า หลักอะไร ไม่นับว่า เหตุมันเกิดในบ้าน ทำไมตัองรอใครมาร้อง เพราะองค์กรอื่นเช่น ปปช. กกต.เดี๋ยวนี้แค่ฟังความได้ว่า เขาก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้กระจ่างแล้ว ผมไม่เข้าใจว่า เมื่อเราตรวจสอบคนอื่นได้ และรังเกียจที่รัฐจะออกกฏหมายหรือมาตรการใดๆมาปิดปากเรา ทำไมเมื่อมีคนจะตรวจสอบเรา เราจึงจะใช้ทนายไปข่มขู่ปิดปากเขา จะว่าไปเขาแค่จะแสวงหาข้อเท็จจริงเท่านั้นเอง ไม่ถึงขึ้นตรวจสอบดังเช่นเราทำกับคนอื่นเลย” นายภัทระ กล่าว

นายภัทระ ยังกล่าวต่อว่า ตนไม่เข้าใจว่า คนที่มีหน้าที่ในองค์กรสื่อ เคยพูด เคยต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องหลักการเรื่องความรับผิดชอบของสื่อทำไมถึงเฉยชาได้กับการปิดปากการตรวจสอบกันเอง ความยากตลอดสัปดาห์กว่าที่ผ่านมานี้ มีเรื่องหลายเรื่องที่น่าประหลาดใจ นอกจากการใช้ตรรกะและพฤติกรรมแปลกๆในหลายเรื่องแล้วยังมีการใช้กลวิธีที่น่าอัศจรรย์ใจด้วย ตนเป็นอดีตนายกสมาคมนักข่าวฯจึงเป็นที่ปรึกษาสมาคมฯโดยทั้งธรรมเนียมและโดยตำแหน่ง ได้รับเชิญให้ไปให้คำปรึกษาเรื่องนี้แก่กรรมการสมาคมฯซึ่งเรียกประชุมด่วนเมื่อสัปดาห์ก่อนโน้น ตอนเรื่องกำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน เพราะสมาชิกและนักข่าวภาคสนามกำลังเข้าชื่อเรียกร้องให้สมาคมดำเนินการสร้างความกระจ่างในกรณีนี้

“ผมให้ความเห็นตรงๆ ว่า เหตุเกิดในบ้าน แต่อย่าไปด่วนลงความเห็นน่าจะไปแสวงหาข้อเท็จจริงก่อนและไม่ควรทำให้ใครเสียหาย แต่เราก็ไม่ปิดปากใคร ถ้าจะทำได้อย่างมากที่สุดคือ ควรขอร้องเพื่อนร่วมวิชาชีพว่า ข้อเท็จจริงยังไม่ชัด การจะใช้ถ้อยคำประเภท ล่วงละเมิดทางเพศ คุกคามทางเพศหรืออะไรนั่นควรจะใช้วิจารณญาณให้ดี

หลักใหญ่ใจความมีเท่านี้ ที่ประชุมวันนั้นพูดกันตอนหนึ่ง ว่า จะตั้งกรรมการสอบสวน ผมรั้งไว้ด้วยซ้ำว่า มันไม่น่าจะใช่นะ แต่ที่ควรคือ ให้ไปแสวงหาข้อเท็จจริง ส่วนข้อเท็จจริงที่ได้มาจะเป็นอะไร จะเข้าข่ายเรียกว่าอะไรหรืออาจจะไม่มีอะไรเลยก็เป็นได้ทั้งนั้น อย่าด่วนสรุปความดีกว่าไหม
พูดเท่านั้นผมก็ไปธุระอื่นต่อ ไม่ได้รอดูแถลงการณ์ตามที่มีบางคนขอให้ช่วยดูเสียด้วยซ้ำ
สิ่งน่าอัศจรรย์ตามมา คือ หลังเรื่องระเบิดเทิดเทิงออกมาแล้วมีผู้ใหญ่บางคนโทรมาถามว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทำไมมีคนไปพูดว่า ผมทำเรื่องนี้เพราะต้องการจะเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวอิศรา พร้อมทั้งขยายความไปว่า ทหารไม่ชอบอิศรา ถ้าผมเป็น ผอ. สำนักข่าวแห่งนี้ ก็จะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงอิศรา ที่พิลึกกว่านั้นคือ มีคนไปบอกว่า ผมทำเรื่องนี้เพราะมีแรงจูงใจอยากจะเป็น ส.ว. ในงวดหน้า
ผมฟังแล้วก็อัศจรรย์ใจในฝีมือ และความบรรเจิดของคนที่ไปพูดอะไรแบบนี้ อัศจรรย์เพราะ ผมรู้ว่า ผมให้ความเห็นไปนั้นเพราะอะไร หลักอะไร และเหตุอะไร แต่คนเหล่านั้นเอานิยายอะไรมาพูดเพราะหลายสิบปีมานี้ผมทำให้เห็นแล้วว่า เมื่อพ้นหน้าที่อะไรมาแล้วก็ไม่ไปยุ่งวุ่นวายอะไรกับเขา เว้นแต่เขาจะปรึกษาก็ค่อยให้คำปรึกษาตามหน้าที่

ผมไม่ใช่ผีทางโค้งที่พ้นหน้าที่แล้วก็ไม่ยอมไปไหน ได้แต่วนเวียนเที่ยวครอบคนรุ่นใหม่ ใช้อิทธิพลไปแสวงหาโน่นนี่โดยใช้ชื่อองค์กรสื่อมาแอบอ้าง
ขอโทษเถอะ ตลอดชีวิตในเส้นทางอาชีพนี้ไม่ว่าจะมีบทบาทหน้าที่อะไรผมก็คิดและทำอะไรได้ใหม่ๆอยู่เสมอ อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลย อิศรานี่ผมก็ตั้งและเป็นคนคิดใช้ชื่อนี้ด้วยซ้ำ
ผมทำงานในเรื่องรัฐธรรมนูญเสร็จก็กลับไปบริษัทเดิมก็ได้เขายินดีต้อนรับอยู่ ไม่ใช่พวกเขาไม่ต้อนรับ และช่วงทำงานนี้อยู่ ก็มีคนปรารถนาดี มาชวนไปทำงานสื่อที่อื่นอีกสองสามแห่ง ผมก็ได้แค่ตอบขอบคุณความปรารถนาดีนั้นเพียงว่า ตอนนี้มีภาระหน้าที่ที่ต้องทำให้ดีให้จบเสียก่อน
ที่ฟุ้งซ่านไปหลอกคนอื่นว่า ผมทำไปเพราะจะเป็น ส.ว. นั่นก็ไม่ได้อ่านหนังสือเสียบ้างเลยว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขาเขียนป้องกันการมีส่วนได้เสียของตัวเองไว้ว่า ห้ามไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอะไรเป็นเวลาสองปีนับแต่พ้นหน้าที่
ขอเรียนว่า ที่ผ่านมา ผมไปมีภาระหน้าที่อะไรต่างจากปกติบ้างก็เป็นเรื่องมีเหตุแต่ไม่เคยไปเที่ยววิ่งเต้น
โถ...จะโกหกแต่งเรื่องก็ช่างไม่กลัวว่าคนจะมองเห็นจมูกงอกออกมาเสียบ้างเลย
ผมฟังข้อกล่าวหาที่มีขึ้นแล้วอัศจรรย์ใจว่า วิทยายุทธนี้ช่างยิ่งกว่านักการเมืองที่คนเหล่านั้นพากันไปตรวจสอบเขาเสียอีกนะเนี๊ยะ” นายภัทระ กล่าว

ทั้งนี้ นายภัทระ กล่าวต่อว่า เล่ามาพอเป็นกระษัยเพื่อจะให้เห็นภาพว่า การตรวจสอบกันเองโดยเฉพาะเมื่อจะตรวจสอบคนที่เป็นบิ๊กสื่อนี้ มันยากขนาดไหน และแค่พูดตรงๆ มีความเห็นตรงๆ แยกเรื่องหลักการกับความสัมพันธ์ส่วนตัวมันยังตัองเผชิญการทำลายล้างอย่างไร ถ้าการต้องยืนหยัดในบางเรื่องแล้วจะทำให้ผมกลายเป็นตัวเลวอย่างที่มีคนพยายามจะยัดเยียดผมก็คงจะทำอะไรไม่ได้ ถ้าผมแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องอื่นแล้วกลายเป็นกลุ่มผู้สูญเสียประโยชน์ผมก็ได้แต่ว่า เชิญเถอะ ถ้าผมพูดอะไรตรงๆ แล้วถูกบิดว่า ผมทำไปเพราะประโยชน์แอบแฝงโดยไม่เอาเรื่องที่แต่ละคนทำมามาส่องดูว่า ใครทำอะไรมาแบบไหนก็ช่างเถอะ อภัยให้หมดล่ะครับ หลายสิบปีมานี้ ผมเรียนรู้อย่างซาบซึ้งแก่ใจดีว่า ถึงจะทำอะไรแค่ไหน พระปฏิมายังราคิน คนเดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา ผมเชื่อว่าเราทำอย่างไรจะได้ผลแบบนั้นและผมเชื่อเรื่องกรรมอย่างยิ่ง

“ผมขอขอบคุณกรรมการสมาคมนักข่าวฯชุดนี้ที่ยังพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ไม่ได้ละทิ้งหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องตรวจสอบกันเอง ไม่ว่า เขาคนนั้นจะเป็นบิ๊กแค่ไหนในวงการก็ตาม อย่างไรก็ดี จัดการเรื่องนั้นไปแล้วก็ต้องทำให้เห็นด้วยว่า เมื่อคนในพยายามจะปิดปากคนในเองเช่นนี้เสียแล้ว สมาคมฯควรจะทำอะไรอีกหรือไม่มันไม่ใช่เรื่องพี่ปิดปากน้อง ไม่ใช่เรื่องลูกจ้างปิดปากนายจ้าง ด้วยสถานะของสมาคมฯและสถานะของอิศราที่โยงใยต่อกัน รับผิดชอบชึ่งกันและกัน และสถานะที่ต่างเป็นองค์กรทำหน้าที่เพื่อสาธารณะ จะปิดปากเฉยๆอย่างนั้นหรือ ? ขออภัยที่พูดตรงๆ และให้อภัยกับใครๆที่ทำอะไรไปแบบนั้นครับ” นายภัทระ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น