xs
xsm
sm
md
lg

กก.ปฏิรูปตำรวจหนุนรวมงานสืบสวน-สอบสวน คงสังกัด สตช. แต่ต้องมีความเป็นอิสระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ (แฟ้มภาพ)
กก.ปฏิรูปตำรวจ เผยผลประชุมเคาะรวมงานสืบสวน-สอบสวนเพื่อประสิทธิภาพการทำงาน สังกัด สตช.เหมือนเดิม เตรียมหากลไกสร้างอิสระจากผู้บังคับบัญชา แย้มหัวหน้าสถานีต้องไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อคดี ไม่ให้ก้าวก่าย



วันนี้ (20 ก.ย.) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับโครงสร้างของพนักงานสอบสวนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปในเบื้องต้น โดยคณะกรรมการฯเห็นว่าควรจะใช้วิธีผสมผสานการทำหน้าที่ระหว่างตำรวจในด้านสอบสวนและสืบสวน ซึ่งต่อจากนี้เราจะให้ใช้ตำแหน่งสืบสวนสอบสวนแทน สำหรับการเจริญเติบโตในหน้าที่ของพนักงานสืบสวนสอบสวนนั้น ทางคณะอนุกรรมการฯเสนอ 2 ทาง คือ 1. ให้เลื่อนในสายงานหลัก เลื่อนตำแหน่งเมื่อมีตำแหน่งว่าง 2. กรณีตำแหน่งในสายงานพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ ให้เลื่อนในตำแหน่งที่ครองอยู่ เป็นการเลื่อนตำแหน่งจากการประเมิน โดยพนักงานสืบสวนสอบสวนสามารถเลื่อนขึ้นไปได้ถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“เหตุผลที่ต้องนำเรื่องสืบสวนสอบสวนมารวมกันนั้น เพราะว่าทั้ง 2 เรื่องนี้แยกจากกันไม่ออก การได้มาซึ่งหลักฐานไปสู่การสอบสวนนั้นต้องมาจากการแสวงหาหลักฐานที่เรียกว่าการสืบสวน ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกที่แยกออกจากกันจึงต้องให้มาอยู่รวมกัน เพื่อประสิทธิภาพในการทำหน้าที่”

สำหรับสายงานบังคับบัญชา พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า ยังคงงานสืบสวนสอบสวนให้อยู่ภายใต้กำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพราะมีความจำเป็นที่ สตช.ยังต้องรับผิดชอบอยู่ ประกอบกับการทำงานยังต้องใช้บุคลากรและสถานที่ทำงาน จะไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาแต่อย่างใด ยังคงอยู่ในสถานีตำรวจ อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ถัดไปที่คณะกรรมการฯต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้บังคับบัญชา ตำรวจที่มียศสูงกว่าเข้ามากลั่นแกล้งหรือแทรกแซงการทำหน้าที่และโยกย้ายตำแหน่งของพนักงานสืบสวนสอบสวน

เมื่อถามถึงวิธีการที่จะทำให้งานสืบสวนสอบสวนเป็นอิสระ ไม่ถูกแทรกแซง พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอในเรื่องนี้แต่ยังไม่ยุติ โดยให้หัวหน้าสถานีไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อคดี แต่อาจเข้าไปช่วยดูแลเรื่องบุคลากร งบประมาณ เป็นต้น ส่วนกรณีผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาได้นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการประเมินเพื่อนำไปสู่ความดีความชอบ และการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเป็นบทบาทที่ไม่เด็ดขาด โดยหัวหน้าสถานีจะไม่ได้ประเมินแบบใกล้ชิด แต่จะประเมินจากภาพรวมอาจประเมินในทางลบหรือบวกก็ได้ ทำให้หัวหน้าสถานีช่วยคานกับหัวหน้างานสืบสวนสอบสวนที่อาจช่วยกัน กรณีดังกล่าวก็เหมือนกับราชการทั่วไป ทั้งนี้ เราต้องทำกฎหมายเขียนคุ้มครองความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน

“จะต้องคิดหาวิธีปฏิบัติทำอย่างไร ไม่ให้ผู้บังคับบัญชาสามารถทำอะไรก็ได้ หรือดลบันดาลอะไรก็ได้ จะใช้อำนาจหัวหน้าก้าวก่ายทำให้รูปคดีเสียเพื่อช่วยใคร จะต้องทำไม่ได้ ต้องสร้างตรงนี้ให้ได้ ถ้าไม่ได้การปฏิรูปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร” พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น