“เฉลิมชัย” เผยเรือเหาะมูลค่า 350 ล้านที่ประจำการในชายแดนใต้ครบอายุการใช้งานแล้ว เล็งปรับกล้องตรวจการณ์ไปใช้อย่างอื่น ยันไม่ซื้อตัวบอลลูนใหม่ ปิดฉากเรือเหาะ ยันที่ผ่านมาก็ใช้งานได้ สวนทางสื่อปูดที่ผ่านมาใช้งานไม่มีประสิทธิภาพ
วันนี้ (14 ก.ย.) ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการนำประเด็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพบกไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรือเหาะที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ตนยังไม่ทราบ ส่วนการใช้งานนั้นตัวเรือเหาะซึ่งเป็นบอลลูนครบอายุการใช้งานแล้วเพราะเป็นผืนผ้าหมดอายุการใช้งาน แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน อาจจะนำไปติดอากาศยานซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่ แต่ตัวบอลลูนหมดอายุการใช้งาน การจะให้คนขึ้นไปอยู่บนนั้นเสี่ยงอันตราย ดังนั้นจึงให้ระงับการใช้งานไว้ก่อน
“อาจจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งานเพราะตัวที่มีราคาแพงและใช้ประโยชน์ได้คือกล้อง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการซื้อตัวบอลลูนใหม่ แต่ดูแลส่วนประกอบที่เป็นกล้องมาปรับรูปแบบการใช้งานเพราะมีราคาแพง และ ถือเป็นหัวใจของกระบวนการในการค้นหา นำไปประยุกต์ใช้กับอากาศยานซึ่งขณะนี้กำลังทดลองทำอยู่” ผบ.ทบ.ระบุ
เมื่อถามว่า แสดงว่าแบบนี้ถือว่าปิดฉากการใช้เรือเหาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ใช่หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า “ใช่ครับ แต่ส่วนประกอบอื่นก็สามารถนำไปใช้กับอากาศยานได้ ส่วนรถลากเรือเหาะที่มีข่าวว่าจะมีการนำไปประมูลขายทอดตลาดนั้น อยู่ในขั้นตอนที่ของกรมขนส่งทหารบกเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป เพราะทิ้งไว้ไม่ได้ใช้งานก็จะเกิดความเสียหาย” เมื่อถามว่าจะเรียกว่า “เรือเหี่ยว” ได้หรือไม่ พล.อ.เฉลิมชัยกล่าวว่า “ที่ผ่านมาก็ใช้ได้นะ สมัยที่ผมลงไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี 2554 เรือเหาะตรวจการณ์ก็สามารถใช้งานได้อยู่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ทบ.ซื้อเรือเหาะและระบบตรวจการณ์มาในราคา 350 ล้านบาท เป็นตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท กล้องตรวจการณ์ และระบบภาคพื้น รถต่างๆ 70 ล้านบาท โดยเข้าประจำการเมื่อปี 2552 แต่ต่อมาเกิดปัญหารั่ว และต้องเติมก๊าซฮีเลี่ยมที่มีราคาแพงจนต้องจอดเก็บในโรงจอดที่กองพลทหารราบที่ 15 (พล ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ.ได้จ้างบริษัทมาดูแลรักษาปีละ 50 ล้านบาท และได้นำออกมาบินตรวจการณ์บ้าง แต่ถูกวิจารณ์ว่าบินต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จนที่สุดก็ต้องจอดเก็บไว้จนหมดอายุ