เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ยันผลสำรวจความเชื่อมั่นนายกฯ ไม่ใช่โพล วิธีซับซ้อนกว่า เป็นตัวแทนชาวบ้านจริง ปัดเปรียบเทียบคะแนนนิยม 6 นายกฯ สอนสื่อต้องเข้าใจหลักการ นำเสนอข้อเท็จจริง ทำอย่างสร้างสรรค์ ซัดหยิบบางเรื่องตั้งคำถามให้เกิดปัญหาใหม่ จี้ทบทวนไม่ใช่แค่เอามัน ไล่ “เสรี” ดูงานวิจัย
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณีผลสำรวจความคิดเห็นความเชื่อมั่นนายกรัฐมนตรี ว่าการทำงานครั้งนี้ไม่ถือเป็นการทำโพล เพราะการทำโพลเป็นการสุ่มตัวอย่างและมีคำถามเพียงไม่กี่คำถาม แต่สำหรับสถาบันพระปกเกล้าเรียกว่าโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจและบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2545 สำหรับในปี 2560 ได้เก็บสุ่มตัวอย่าง 33,420 กลุ่มตัวอย่าง เป็นการสุ่มตัวอย่างทุกจังหวัด และลงครัวเรือนโดยระบุตัวบุคคลให้สัมภาษณ์ ดังนั้น ตามระเบียบวิธีเชื่อว่าซับซ้อนและมั่นใจว่าเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชน ทั้งนี้ สิ่งที่เราสำรวจทุกปีเป็นการทำหน้าที่ในสถานะสถาบันทางวิชาการ ที่ต้องการสะท้อนว่าประชาชนมีความคิดเห็นอย่างไร และหวังว่าจะนำไปสู่ปรับปรุงแก้ไขเพื่อเป็นการสร้างสรรค์ต่อบ้านเมือง (อ่าน ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่างๆ พ.ศ. 2560 โดยสถาบันพระปกเกล้า)
นายวุฒิสารกล่าวว่า ในการสำรวจแต่ละปีมีบริบทและสถานการณ์ที่แตกต่างกัน สามารถเปรียบเทียบผู้นำแต่ละคนได้หรือไม่นั้น คิดว่าเป็นการเปรียบเทียบกันโดยคนที่ตั้งคำถามเอง ในงานแถลงข่าวและงานวิจัยที่เผยแพร่ไม่มีการเทียบเคียงอะไรเลย ดังนั้น การระบุสถาบันพระปกเกล้าไปเปรียบเทียบคะแนนนิยมของรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจของนายกรัฐมนตรี 6 คนจึงไม่ใช่ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จึงขอทำความเข้าใจไว้ตรงนี้ด้วย
เมื่อถามว่า จากผลการสำรวจคะแนนนิยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายวุฒิสารกล่าวว่า โพลดังกล่าวไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ แต่ถ้าจะโยงเมื่อไหร่จะเป็นการสร้างปัญหา คิดว่าปัญหาวันนี้ คือ สื่อมวลชนต้องเข้าใจหลักการและนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่เสนอความคิดเห็น และที่สำคัญต้องนำเสนออย่างสร้างสรรค์ คำถามแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาในบ้านเมือง สื่อต้องเข้าใจบริบทและฟังข้อเท็จจริง แต่ขณะนี้สื่อไม่ได้ฟัง และหยิบบางเรื่องเพื่อตั้งคำถามและเกิดปัญหาใหม่ ดังนั้น เราต้องทบทวนกันทุกฝ่ายทำหน้าเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่ทำเพื่อสนุกและมัน
เมื่อถามต่อว่า กรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ระบุถึงงานวิจัยดังกล่าวทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมือง นายวุฒิสารชี้แจงว่า ใครจะเข้าใจหรือแปลความอย่างไรเป็นสิทธิของแต่ละคน และถ้าจะเป็นธรรมก็น่าจะเข้าไปดูข้อเท็จจริงในการแถลงข่าวและเนื้องานวิจัย ส่วนกรณีที่ สปท.ด้านการเมืองเสนอให้ปฏิรูปสถาบันพระปกเกล้านั้น คิดว่าในเวที สปท.เป็นเวทีพูดคุยกัน มีความเห็นที่หลากหลาย ตนเองไม่ได้อยู่ในฐานะตอบโต้เพราะไม่ได้เป็นสมาชิก สปท. จึงเป็นสิทธิแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล