xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” พลิกเกมแบะท่าแตะมือ พท.หนุน “ประยุทธ์” นั่งนายกฯ !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา



“พรรคจะเป็นตัวแทนชุดความคิด ชุดนโยบายในการแก้ปัญหาประเทศ และประชาชนจะเป็นตัวตัดสินว่าสนับสนุนพรรคมากน้อยแค่ไหน ถ้าสนับสนุนมากก็มีโอกาสไปทำงานผลักดันด้วยตัวเอง แต่ถ้าสนับสนุนไม่พอแล้วต้องจัดตั้งรัฐบาลก็จะยึดเนื้อหาสาระที่เสนอกับประชาชนเป็นหลัก จึงต้องดูว่าพรรคเพื่อไทย หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนับสนุนแนวทางของพรรคหรือไม่ ถ้าแนวทางไปด้วยกันได้ก็ร่วมงานได้ แต่ถ้าแนวทางไปไม่ได้ก็ร่วมงานไม่ได้ ผมไม่สามารถตอบได้ว่าพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พรรคภูมิใจไทย จะมีท่าทีต่อแนวความคิดของพรรคอย่างไร จนกว่าสิ่งเหล่านี้จะชัดเจน”

คำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำถึงแนวทางของพรรคหลังการเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาลและร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม

แน่นอนว่า อาจจะยังเร็วไปบ้าง หรือยังไม่น่าสนใจนักที่มาพูดเรื่องแบบนี้กันในช่วงเวลาที่อาจมีเรื่องอื่นที่ต้องติดตามกันก่อน แต่หากพิจารณากันจากคำพูดดังกล่าวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถือว่าถึงอย่างไรก็เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองมาตรฐานพรรคหนึ่ง และนี่อาจเป็น “ท่าทีใหม่” ที่แบะท่าออกมาชัดเจนกว่าทุกครั้ง และในคำพูดยังมองเห็นถึงอนาคตทางการเมืองที่น่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ว่าอำนาจน่าจะยังอยู่ในมือของขั้นการเมืองกลุ่มใด รวมไปถึงจะมีพรรคการเมืองใดมีบทบาทเพิ่มเข้ามา

พิจารณาจากคำพูด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการพูดถึง 3 - 4 ประเด็นหลัก คือ ในช่วงการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์จะเสนอชุดความคิด นโยบายการแก้ปัญหาประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจสนับสนุน หากได้รับการสนับสนุนมากก็จะเข้าไปผลักดันด้วยตัวเอง แต่หากได้รับการสนับสนุนไม่พอแล้วต้องจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องยึดเนื้อหาสาระที่เสนอกับประชาชาเป็นหลัก “ก็ต้องดูว่าพรรคเพื่อไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคภูมิใจไทย สนับสนุนแนวทางของพรรคหรือไม่ ถ้าแนวทางไปด้วยกันได้ก็ร่วมงานกันได้”

สังเกตให้ดีจะเห็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พูดเปิดทางเป็นครั้งแรกว่าสามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ ซึ่งผิดกับก่อนหน้านี้ที่ไม่เคยเปิดทางแบบนี้ เนื่องจากเห็นว่ามีแนวทางหรืออุดมการณ์ต่างกัน สองพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในความหมายที่ว่าน่าจะเป็น “นายกฯคนต่อไป” หลังเลือกตั้ง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเหนือความคาดหมาย เพราะหากใครที่ติดตามและเข้าใจสภาพกลไกรัฐธรรมนูญและบรรยากาศทางการเมืองก็ต้องยอมรับความจริงใจข้อนี้กันอยู่แล้ว

รวมไปถึงการพูดถึง “พรรคภูมิใจไทย” ในสภาพที่เหมือนกับรับรู้ว่า “ต้องมีสถานะใหม่” ใช่แล้วหากใครที่ติดตามการเมืองก็ย่อมรู้ดีว่าพรรคนี้เป็นที่ เนวิน ชิดชอบ เป็นผู้ก่อตั้งกับกลุ่มทุนรับเหมาที่นำโดยรุ่นลูก คือ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญาวีรกุล และเวลานี้ก็นั่งเป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งในอดีตพวกเขาเคยพลิกขั้วมาสนับสนุนให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเสียงโหวตชนะ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ “น้องเขย” ทักษิณ ชินวัตร จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว และรับรู้กันว่าพรรคนี้มีสายสัมพันธ์อันดีกับ “สีเขียว” ที่นำโดย “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ตอนนั้นได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และมี สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกฯด้านความมั่นคงไงละ

และที่ย้ำว่า พล.อ.ประวิตร จะไม่ตั้งพรรคทหาร ก็คงเป็นแบบนั้นแหละ เพราะไม่จำเป็น เนื่องจากมีพรรคภูมิใจไทย ที่มีคอนเนกชั่นแน่นปึ้กอยู่แล้ว

คำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางหนึ่งก็เหมือนกับยอมรับชะตากรรมและความเป็นจริงที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปแบบที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะหากปฏิเสธก็เท่ากับว่าประชาธิปัตย์อาจจะจมหายไปกับกาลเวลา อย่างน้อยก็ 5 ปี ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้ “นายกฯคนนอก” และมี ส.ว.ลากตั้ง จำนวน 250 คน

ขณะเดียวกัน ก็คงจะอ่านเกมออกว่า หลังการเลือกตั้งแม้ว่าพรรคเพื่อไทย ยังมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง แต่ด้วยกลไกใหม่ของรัฐธรรมนูญคงไม่มีพรรคการเมืองไหนจะมีเสียงที่ชนะขาดแบบถล่มทลาย เสียงก็จะคละกันไม่น่าจะต่างกันมากนักใน 3 พรรคการเมืองที่ว่านี้ และสำหรับพรรคเพื่อไทยที่มีแนวโน้มว่าคนในครอบครัวชินวัตร กำลังโดนคดีสำคัญมีชนักปักหลังทุกคน ย่อมต้องจำใจถอยไปชั่วคราว และ “หัวใหม่” ที่เข้ามาในลักษณะ “นอมินี” ก็ต้องสนับสนุน “กลุ่มอำนาจใหม่” ในปัจจุบันนี้เท่านั้น คงไม่กล้าแตกแถวไปทางอื่น

ดังนั้น หากมองตามสถานการณ์และแนวโน้มในอนาคตมันก็น่าจะออกมาแบบนี้จริงๆ และเพื่อไม่ให้ตกขบวน หลุดไปจากวงโคจรแบบเหนือการควบคุมยาวนานก็มีทางเดียวคือต้องยืดหยุ่นประคองตัวไปก่อนหรือเปล่า !!
กำลังโหลดความคิดเห็น