เมืองไทย 360 องศา
แม้ว่าหากนับวันเวลาตามโรดแมปที่ฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลกำหนดเอาไว้ว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเกิดขึ้นในปลายปีหน้าถึงต้นปีโน้น คือ ปี 2562 ถือว่ายังมีเวลาเหลืออีกนาน แต่ถึงอย่างไรแม้ว่าภาพภายนอกที่สื่อออกมาให้เห็นในบรรยากาศเนือยๆ แต่สำหรับ “วงใน” แล้วเริ่มเห็นความเคลื่อนไหวต่อรองกันแบบเข้มข้นขึ้นทุกที
แน่นอนว่า สำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือ พรรคเพื่อไทย ที่ตามสูตรการเมืองใหม่จะต้องเป็นแกนหลักอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นแบบแยกขั้วหรือว่าจะมาแบบ “หลุดโลก” คือ ทั้งสองพรรคใหญ่ผสมกัน มันก็มีทางเป็นไปได้เหมือนกันอย่าทำเป็นเล่นไป
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์การเมืองแบบกึ่งอึมครึมเรื่อยเปื่อยแบบนี้ น่าจะต้องโฟกัสไปที่ “พรรคขนาดกลาง” กันก่อน เพราะในอนาคตตามกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่จะกลายเป็น “ตัวแปร” สำคัญ หากสูตรแรกคือสองพรรคใหญ่ผสมร่วมรัฐบาลกันไม่ได้
แน่นอนว่า หากพิจารณาจากรายชื่อพรรคการเมืองที่มีอยู่พรรคขนาดกลาง รวมไปถึงพรรคขนาดเล็กที่คาดว่าอีกไม่นานน่าจะกลายเป็นพรรคขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ โดยเริ่มจากพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
ที่กล่าวว่า กติกาใหม่เอื้ออำนวยกับรัฐบาลผสม และพรรคขนาดกลาง จะเป็นตัวแปรสำคัญหลังการเลือกตั้งคราวหน้า เพราะมีการคาดหมายว่า ด้วยกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งและระบบการคำนวณคะแนนการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบ “สัดส่วนผสม” และระบุว่า ทุกคะแนนมีความหมาย อย่างไรก็ดี ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ดังกล่าว เชื่อว่า จะไม่มีหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด
หลายคนวิเคราะห์ว่านั่นคือ การออกแบบป้องกัน “เผด็จการรัฐสภา” แบบที่เรียกว่าใช้เสียงข้างมากลากไป ซึ่งจะว่าไปแล้วป้องกันเหตุการณ์ซ้ำรอยในยุคของ ทักษิณ ชินวัตร ในอดีตนั่นแหละ ดังนั้น วิธีป้องกันที่ได้ผลก็ต้องหาทางให้เกิดเป็นรัฐบาลผสมในอนาคต เมื่อมีแนวโน้มเป็นรัฐบาลผสมมันก็ต้องมีพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กเข้าร่วม
อย่างไรก็ดี หากแยกออกมาโฟกัสสำหรับพรรคขนาดกลางที่แม้เวลานี้ยังไม่มีสภาพสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะยังถูกห้ามทำกิจกรรม ห้ามประชุมพรรค แต่ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ก็ถือว่าเป็นพรรคการเมืองอยู่ดี ซึ่งต้องพูดถึงพรรคชาติไทยพัฒนา ที่โดดเด่นมาช้านาน โดยเฉพาะในเรื่องการ “ร่วมรัฐบาล” ที่จำติดตามาตั้งแต่ยุคของ “หลงจู๊” บรรหาร ศิลปอาชา เรื่อยมา จนกระทั่งตกทอดมาถึงรุ่นลูกอย่าง วราวุธ ศิลปอาชา ในปัจจุบัน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคชาติไทยพัฒนามีข่าวในเรื่องการถูก “เทกโอเวอร์” โดย ทักษิณ ชินวัตร เพื่อใช้เป็นพรรคสำรอง เป็นพรรคอะไหล่รวมไปถึงพรรค “ในเครือ” ที่ใช้สำหรับการต่อรองในวันหน้า และแน่นอนว่า หากข่าวเรื่องพรรคชาติไทยเป็นจริง มันก็เป็นไปได้เช่นเดียวกันว่าจะมีลักษณะเดียวกันกับพรรคการเมืองพรรคอื่น ทั้งขนาดกลางและเล็กในแบบซื้อแล้ว “ฝากเลี้ยง” สำหรับใช้รวบรวมเสียง ส.ส. ในการโหวตหานายกฯคนใหม่ ที่มาจากรายชื่อพรรคการเมือง ซึ่งจะมาว่ากันในรายละเอียดและความเป็นไปได้หลังจากนี้
อย่างไรก็ดี เมื่อโฟกัสกันเฉพาะประเด็นเทกโอเวอร์พรรคชาติไทยพัฒนาได้รับการปฏิเสธอย่างเด็ดขาดจาก วราวุธ ศิลปอาชา ว่าไม่มีทางเป็นไปได้
“พวกเราให้คำมั่นไว้เลยว่าพรรคนี้ไม่ได้รอวันมาถูกเทกโอเวอร์ พวกเราทุกคนในพรรคยังมีศักยภาพในการทำงาน และการดำเนินงานทางการเมือง”
ส่วนที่หลายคนมองว่า นายบรรหาร ไม่อยู่แล้วเราขาดนายทุนของพรรคไป นายวราวุธ กล่าวว่า เราแค่ขาดนายทุนไป 1 คน แต่ยังเหลืออีกหลายคนที่ยืนหยัดกับพรรค และแม้วันนี้พรรคชาติไทยพัฒนาจะยังขาดแกนนำหลัก ถ้าเปรียบตะเกียบเป็นแกนนำหลัก แท่งเดียวอาจจะหักง่าย แต่หากเรานำตะเกียบ 10 แท่งมามัดรวมกัน ก็จะหักยากขึ้น เวลานี้อาจจะไม่มีใครโดนเด่นขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่ด้วยหากตะเกียบที่รวมตัวกันนำผูกร่วมกัน เชื่อว่า จะสามารถสร้างให้มีความเข้มแข็งไม่ด้อยกว่าพรรคอื่นๆ หรือพรรคใหญ่ๆ เลย ดังนั้น การที่ใครบอกว่าพรรคชาติไทยพัฒนากำลังจะโดนเทกโอเวอร์ไม่มีมูลความจริง เรามีศักดิ์ศรีพอที่จะยืนอยู่บนขาของเราเอง เรามีศักยภาพพอที่จะดูแลตัวของเราเองไม่จำเป็นต้องมีน้ำเลี้ยงมาจากที่ใด ไม่จำเป็นต้องได้รับการอุปการะจากใคร หรือรอใครมาเทกโอเวอร์
“พรรคชาติไทยพัฒนาในวันนี้เป็นองค์กรทางการเมืององค์กรหนึ่งที่จะค่อยเป็นความหวังให้กับสังคมไทยไม่ใช่รอใครมาเทกโอเวอร์ หรือเป็นพรรคสำรองของใคร”
“นายทักษิณติดต่อมาจริง ติดต่อมาหลังที่นายบรรหารเสียชีวิต แต่ถือเป็นเรื่องปกติที่ในฐานะคนรู้จักกัน เพราะพ่อและนายทักษิณเรียกได้ว่ารู้จักมักคุ้นกันมาหลายสิบปี นายทักษิณก็ได้โทร.มาแสดงความเสียใจ บอกว่า อาเสียใจด้วยนะผมก็ขอบคุณท่านไปก็เท่านั้น ส่วนจะโทร.ไปหาพี่สาวตน (กัญจนา ศิลปอาชา) ด้วยหรือไม่ อาจจะมี แต่ยืนยันว่าไม่มีการโทร.มาเพื่อเทกโอเวอร์ แน่นอน ตนก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมถึงมีกระแสข่าวแบบนี้ออกมา”
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบเข้าใจก็ต้องบอกว่านั่นคือคำถามและคำตอบแบบการเมือง ที่แม้ว่าวันนี้ปฏิเสธอย่างเด็ดขาด แต่เมื่อถึงวันหน้าทุกอย่างก็สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ไม่ยาก โดยเฉพาะคำว่า “เพื่อชาติและประชาชน” ทุกอย่างมันก็เดินหน้าไปได้อย่างราบรื่น
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณากันอีกเรื่องที่มาควบคู่กัน และมีทางเป็นไปได้ตามกติกาและเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญใหม่ ก็คือ บทบัญญัติใน “บทเฉพาะกาล” ที่เปิดทางให้ “นายกฯคนนอก” ได้เข้ามา ซึ่งแน่นอนว่า คอการเมืองย่อมมองออกว่าต้อง “สงวน” เอาไว้สำหรับ “บิ๊ก” บางคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่แม้เวลานี้ยังสงวนท่าที เพราะยังไม่ถึงเวลาต้องออกตัว
แต่ด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์ทั้งในวันนี้ และต่อเนื่องไปจนสุดปลายโรดแมป มันก็มีเส้นทางบรรจบอยู่ที่ “เขา” คนเดียว ส่วนจะใช่ “ลูกผู้ชาย” ที่ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่อีกไม่นานก็จะได้คำตอบ
ขณะเดียวกัน แม้ว่าในบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้มี ส.ว. แต่งตั้งโดย คสช. จำนวน 250 คน ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพรรคการเมืองพรรคใหญ่พรรคหนึ่งค้ำจุนเอาไว้อยู่แล้ว แต่ถึงอย่างไรมันก็ต้องมีองค์ประกอบจากพรรคการเมืองในสภาผู้แทนสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อให้ครบองค์ประกอบประชาธิปไตยจากประชาชน ถึงตอนนี้แหละที่จำเป็นต้องพึ่ง “พรรคขนาดกลาง” เข้ามาเสริม และถึงตอนนี้แหละที่พรรคขนาดจะเนื้อหอม จะถูกอีกขั้วตามจีบให้เข้ามาร่วม
ดังนั้น หากมองในแบบการเมือง “เขี้ยวๆ” มันก็สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมถึง วราวุธ ศิลปอาชา ถึงรีบออกมายืนยันว่า พรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ใช่พรรคสำรอง ไม่ยอมให้ใครมาเทกโอเวอร์ เพราะในความเป็นจริงมันอาจยังไม่ถึงเวลาที่ต้องประกาศตัวให้ชัด แทงกั๊กไปจนนาทีสุดท้ายดีกว่าไม่ใช่หรือ อีกทั้งสถานการณ์อีกยาวไกล ยังไม่จำเป็นต้องออกตัวเร็วก็ได้ !!