xs
xsm
sm
md
lg

สภาพัฒน์ยก 7 มาตรา แจงบทวิจารณ์ พ.ร.บ.แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ย้ำ กก.ยุทธศาสตร์ชาติ : “ไม่ได้มีอำนาจมากในการกล่าวโทษ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สภาพัฒน์” ยก 7 มาตรา แจงบทวิจารณ์ “พ.ร.บ.แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ชี้ข้อสงสัยผลประโยชน์การแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์-ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นไปตามกลไกคณะกรรมการต่างๆ ของภาครัฐที่มีอยู่เป็นปกติ ไม่ต่างจากกรรมการระดับชาติอื่นๆ ยัน“ไม่ได้มีอำนาจมากในการกล่าวโทษ” ระบุมาตรา 8 เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม มาตรา 11 ยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

วันนี้ (5 ก.ย.) มีรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ของนายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สศช. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการและคณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ เปิดเผยเกี่ยวกับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในขณะนี้ว่า แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการวิคราะห์สภาพการณ์เพื่อจัดทำกรอบและแนวทางการพัฒนาในอนาคต โดยลำดับความสำคัญและยืดหยุ่นตามสถานการณ์

“การคาดการณ์ภาวะล่วงหน้านั้นเป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญในด้านต่างๆ ที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นด้วยแนวโน้มต่างๆ กัน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่มีการดำเนินการกันอยู่โดยทั่วไปทั้งในภาคธุรกิจและการกำหนดนโยบายของภาครัฐทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เช่น การวิเคราะห์ถึงแนวโน้มอนาคตการพัฒนาเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในตลาด การรวมตัวและการตกลงทางการค้า และเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นต้น การวิเคราะห์จะแสดงให้เห็นว่าอนาคตมีทั้งสิ่งที่มีความไม่แน่นอนและสิ่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นสูง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการก้าวเดินไปข้างหน้าที่เหมาะสม”

การมียุทธศาสตร์ชาติและกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยในระยะยาวจะเป็นเครื่องมือให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง สามารถเตรียมการล่วงหน้าไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต คนในชาติมองเห็นเป้าหมายในอนาคตร่วมกัน และช่วยเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้เกิดการปฏิบัติที่สอดคล้องและบูรณาการกัน ส่งผลให้การบริหารราชการแผ่นดินและการใช้งบประมาณแผ่นดินมีประสิทธิภาพ ขณะนี้มีหลายประเทศที่มีการกำหนดเป้าหมายและแผนระยะยาวของประเทศหรืออยู่ระหว่างการจัดทำให้มีขึ้น

ข้อสงสัยเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งคณะกรรมการที่มีผลประโยชน์

เลขาธิการฯ กล่าวว่า ในมาตรา 12 วงเล็บ 5 พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดให้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นกรรมการ

ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 17 คน มาตรา 12 วงเล็บ 6 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ให้คำนึงถึงความหลากหลายของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและความหลากหลายของช่วงอายุด้วย ทั้งนี้ องค์ประกอบของกรรมการที่มีผู้แทนจากหลายภาคส่วนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชน มีอยู่ในกลไกคณะกรรมการต่างๆของภาครัฐอยู่เป็นปกติอยู่แล้วไม่ต่างกับกรรมการระดับชาติอื่นๆ

นอกจากนั้น มาตรา 8 ในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติก็เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อให้ได้รับข้อมูลความเห็นและความต้องการจากทุกภาคส่วนประกอบการจัดทำ

แผนยุทธศาสตร์ปัจจุบันยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

ตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปีหรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดําเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ให้คณะกรรมการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดําเนินการ

การกำหนดอำนาจให้คณะกรรมการให้การการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล

เลขาธิการฯ กล่าวว่า ตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาตินั้นกำหนดว่ายุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี บนหลักการและแนวคิดที่สำคัญ คือ

(1) การดำเนินงานตามแผนพัฒนา/แผนปฏิบัติงาน หรือแผนงานใดๆ ก็ตามต้องมีการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ และเพื่อที่จะนำผลการติดตามและประเมินมาปรับแผนหรือปรับแนวทางการดำเนินงานให้ตรงและสอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องบรรลุได้อย่างแท้จริงไม่บิดเบือน ดังนั้น ภายใต้หลักการและแนวคิดข้อนี้ก็ถือว่าเป็นการกำหนดตามหลักการและแนวทางการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของภาครัฐที่ต้องดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน

(2) พ.ร.บ.ได้มีการกำหนดให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลอย่างเป็นขั้นตอน โดยที่ในแต่ละขั้นตอนได้กำหนดเป็นระยะเวลาให้ได้ดำเนินการและรายงานอย่างเหมาะสม รวมทั้งสามารถมีข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปรับปรุงที่จะสนับสนุนให้สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องและเกิดความก้าวหน้าได้

และ (3) ในกรณีที่การดำเนินงานไม่สอดคล้องกับกรอบกว้างๆ ของยุทธศาสตร์ชาติหรือหลีกเลี่ยงที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนด พ.ร.บ.ก็ได้กำหนดมาตราต่างๆ ไว้รองรับให้เกิดขั้นตอนของการพิจารณาอย่างระมัดระวัง/รอบคอบ และเปิดช่องทางให้สามารถชี้แจงและปรับปรุงแก้ไขได้

อย่างไรก็ดี การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลในปัจจุบันนับว่ายังขาดประสิทธิภาพและไม่สามารถทำให้เกิดความรับผิดรับชอบที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะในการดำเนินเรื่องสำคัญๆ ที่จะผลักดันให้ประเทศไปสู่เป้าหมายที่ควรจะเป็น กระบวนที่กำหนดตาม พ.ร.บ.นี้จึงเป็นแนวทางที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการติดตามผลการดำเนินงานและสนับสนุนให้การดำเนินงานสามารถเกิดประสิทธิผลได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดเป็นขั้นเป็นตอนของการติดตาม ตรวจสอบ และการประเมินผล ซึ่งมีการหารือ ทักท้วง ตักเตือน และให้เวลาปรับปรุงแก้ไข ซึ่ง “คณะกรรมการไม่ได้มีอำนาจมากในการกล่าวโทษแต่อย่างใด” โดยมาตรา 24 ให้หน่วยงานจัดทำรายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติภายในเวลาที่กำหนดเพื่อเสนอต่อรัฐสภาทราบ

ในมาตรา 26 หากหน่วยงานของรัฐดำเนินการใดที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแจ้งให้หน่วยงานนั้นทราบถึงความไม่สอดคล้องและข้อเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุง และเมื่อหน่วยงานดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้วให้แจ้งคณะกรรมการทราบภายใน 60 วัน ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่แจ้งการดำเนินการให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทราบภายในกำหนดเวลาไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติรายงานให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทราบเพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและสั่งการต่อไป และถ้าคณะรัฐมนตรีแจ้งแล้วหน่วยงานยังไม่ดำเนินการโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งถือว่าจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติจึงจะแจ้งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

มาตรา 27 กำหนดให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเผยแพร่รายงานที่ได้รับจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งข้อกำหนดนับว่าเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามารับรู้ร่วมกัน และในฐานะที่ประชาชนเป็นผู้รับบริการจากนโยบายสาธารณะด้วยจึงเป็นผู้ตรวจสอบที่สำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น