xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก กห.เล็งหาวันเหมาะแถลงสัญญาฯ ชี้ถ้านักการเมืองรับรองต่อชาวบ้านปัญหาจะไม่เกิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
โฆษกกลาโหม เผยแถลงสัญญาประชาคมรอวันเหมาะสม เล็งสรุปให้เข้าใจง่าย ไปปฏิบัติเป็นรูปธรรม จี้คนส่วนน้อยอยู่นอกกรอบ กม.มาปรองดองกับชาวบ้าน ยันทำไม่ลำบากแต่ต้องใช้เวลาสักพัก บอกนักการเมืองถ้านิ่งก็ถือว่าปรองดองแล้ว ถ้ารับรองต่อหน้าประชาชนก็มั่นใจปัญหาจะไม่เกิด

วันนี้ (4 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.30 น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานคณะอนุกรรมด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ในชุดคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากเปิดสัญญาประชาคมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองว่าจะมีการสร้างความรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนหลังจากนั้นจะพิจารณาวันเวลาที่เหมาะสม เพื่อแถลงสัญญาประชาคมฯอย่างเป็นทางอีกครั้ง โดยจะสรุปเนื้อหาที่สำคัญเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจง่าย นำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้สาระของสัญญาประชาคมเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในจิตสำนึกของคนไทย เพียงแต่ว่าอาจจะถูกปิดบังและลบเลือนไปบ้างในช่วงความขัดแย้งที่ผ่านมา เห็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย เรื่องที่ผิดกติกาสังคมกลายเป็นความถูกต้อง ชอบธรรมและเป็นเรื่องปกติไป ถ้าเราช่วยกันปลุกจิตสำนึกของคนจะรู้กันว่าอะไรที่ควรปฏิบัติ ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมจะเดินหน้าไปได้ การปรองดองคือสิ่งที่ทุกคนทำร่วมกัน ทำสัญญาใจกับแผ่นดินว่าเราจะไม่ยอมให้ความรุนแรงในอนาคตเกิดขึ้นอย่างในอดีต

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้คู่ขัดแย้งลงเอ็มโอยูด้วยหรือไม่ พล.ต.คงชีพกล่าวว่า วันนี้เป็นเรื่องการปรองดองซึ่งคนส่วนใหญ่อยู่ในกรอบกติกา แต่มีคนส่วนน้อยออกไปบ้างและเสียงดังวันนี้เราต้องดึงคนส่วนน้อยที่เดินออกนอกกรอบกติกากฎหมายให้กลับมาอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย วันนี้ใครอยู่นอกกรอบกฎหมายต้องมาปรองดองกับประชาชน เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังยึดมั่นและเห็นความสำคัญของกติกาสังคม เมื่อถามว่า วันนี้การสร้างความปรองดองจะลำบากหรือไม่ พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ไม่ลำบาก คงต้องใช้เวลาสักพัก วันนี้เราให้ข้อมูลที่เปิดกว้างและรอบด้านและทำความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้น สำหรับการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อ ไม่ยอมรับกระบวนการตัดสินนั้น เขาทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และภายใต้กรอบกฎหมาย

“ห้ามถามหาว่าการสร้างความปรองดองเป็นหน้าที่ของใคร เป็นหน้าที่ของรัฐหรือไม่ มันไม่ใช่ แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน เพราะตัวปรองดองตัวนี้ประชาชนร่วมกำหนดอนาคตร่วมกัน แล้วทำไมต้องเป็นหน้าที่ของรัฐหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะประโยชน์ที่ได้รับจากการปรองดอง คือสังคมอยู่อย่างสงบสุข และประชาชนได้รับประโยชน์” พล.ต.คงชีพกล่าว

เมื่อถามว่า การสร้างปรองดองนักการเมืองเหมือนไม่เข้าร่วมเท่าที่ควร พล.ต.คงชีพกล่าวว่า ไม่เป็นไร หากเขานิ่ง แต่อยู่ในกรอบกฎหมายก็หมายความว่าเขาเดินหน้าปรองดองแล้ว ไม่ต้องมีการตอบสนองโดยการเซ็นเอ็มโอยู ถึงวันหนึ่งหากเห็นว่าดีค่อยทำไป หากนักการเมืองรับรองต่อหน้าประชาชนแล้ว เราก็มั่นใจว่าปัญหาในอนาคตจะไม่เกิดขึ้น หากเกิดขึ้นอกเขาก็ได้รับผลตามกฎหมาย เราจะไม่พูดถึงอดีตว่าใครผิดใครถูก ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น