สมาคมนักข่าว นสพ.จัดราชดำเนินเสวนา ชี้ปลุกข้อหา ม.116 เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป “สุณัย” เผยมี 66 คนโดนคดีหลังวิจารณ์ คสช. สะท้อนคิดต่อยอดอำนาจ-ไม่พร้อมถูกตรวจสอบ “จักร์กฤษ” ระบุสร้างปัญหา ด้าน “เสรี” ป้อง คสช.ใช้ควบคุมความสงบ ไม่เป็นอุปสรรคปฏิรูป “วิรัตน์” ยันมาตรานี้ลงโทษไม่ได้ ให้สบายใจ
วันนี้ (3 ก.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนาหัวข้อ “ปลุกข้อหา มาตรา 116 อุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษา Human Right Watch ประจำประเทศไทย นายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ที่ปรึกษาสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการโดยนายปรัชญาชัย ดัชถุยาวัตร โฆษกและกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ
นายสุณัยตั้งข้อสังเกตว่า มีการตั้งข้อหาผู้เห็นต่างจากรัฐบาล ฐานยุยงปลุกปั่น ตามความผิดในมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งฝ่ายการเมือง นักกิจกรรม และสื่อมวลชน เพิ่มขึ้นตลอดการบริหารของรัฐบาล คสช.กว่า 3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างพร่ำเพื่อตามอำเภอใจ แสดงถึงการติดหล่มว่ายังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการตรวจสอบ เสมือนเตรียมต่อยอดให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป ใครตรวจสอบจะถูกคุกคามดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 66 คนถูกดำเนินคดีตามฐานความผิดนี้รวม 24 คดี กลุ่มที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุดคือผู้วิจารณ์ คสช. มีมากถึง 20 คดี มาตรานี้จึงกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการจัดการกับผู้ที่เห็นต่าง นำไปสู่การสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัว เพราะเป็นความผิดร้ายแรงในหมวดความมั่นคง มีสิทธิติดคุกถึง 7 ปี อีกทั้งก่อนหน้านี้มีคำสั่ง คสช.ให้การทำผิดเกี่ยวกับความมั่นคงขึ้นศาลทหาร แม้ว่าต่อมาจะมีการยกเลิกไปแล้ว แต่ความผิดที่เกิดก่อนการยกเลิกคำสั่ง คสช.ดังกล่าวยังคงขึ้นศาลทหารซึ่งกติการะหว่างประเทศมองว่าไม่สอดคล้องกับหลักการไต่สวนอย่างเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล เนื่องจากอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงกลาโหม จึงขาดความเป็นอิสระในการพิจารณาคดี พร้อมกับเสนอให้ คสช.ยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชนตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการเปลี่ยนผ่านประเทศ
ด้านนายจักร์กฤษกล่าวว่า สื่อมวลชนในยุคคสช.ต้องทำงานภายใต้การควบคุมโดยประกาศ คสช.ฉบับที่ 97 แต่ไม่ค่อยได้นำมาใช้ โดยรัฐบาลเลือกใช้มาตรา 116 ซึ่งเป็นกฎหมายปกติแทน สร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัว โดยเฉพาะการใช้มาตรา 116 ในปัจจุบัน แม้จะใช้กฎหมายปกติ แต่เป็นการใช้อำนาจแบบไม่ปกติ เพราะไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิด แต่นำกฎหมายมารับใช้ผู้มีอำนาจที่ไม่ต้องการให้มีการวิจารณ์ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่รับรองการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยสุจริต และยังทำให้เกิดปัญหากับผู้ที่ถูกดำเนินคดี มีความยากลำบาก ถูกใส่กุญแจมือ ถูกควบคุมตัวชั่วคราวก่อนได้รับการประกันตัว ใครไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวก็ต้องติดคุก ดังนั้นแม้ว่าการกล่าวหาตามมาตรา 116 สุดท้ายจะไม่สามารถลงโทษได้ แต่ก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตยาวนานก่อนที่ศาลจะพิพากษาถึงที่สุด
ขณะที่นายวิรัตน์ระบุว่า ที่ผ่านมามาตรา 116 ไม่ได้ถูกใช้ในการฟ้องคดี แม้ว่าจะมีการนำมาใช้มากในปัจจุบัน แต่มีช่องทางสู้คดีเพื่อให้รอดพ้นความผิดตามมาตรานี้ คือถ้าเป็นการทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ ติชมโดยสุจริต และไม่ได้ใช้กำลัง หรือก่อให้เกิดความไม่สงบ จึงคิดว่ารัฐบาลมีเจตนาที่จะป้องปราม เนื่องจากไม่มีกฎหมายสกัดในเรื่องการใช้ข้อความเกลียดชัง แต่การนำมาตรา 116 มาใช้ ก็เชื่อว่าจะไม่สามารถลงโทษได้เนื่องจากต้องสืบเจตนาพิเศษ จึงขอให้สังคมสบายใจได้
ด้านนายเสรีระบุว่า รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 116 เพื่อควบคุมความเรียบร้อยในประเทศให้เกิดความมั่นคงด้วยการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของคนทั้งประเทศ แม้ว่าจะกระทบกับคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ตาม โดยในยุคนี้ไม่ได้มีสภาพการณ์รุนแรงเหมือนในปี 16 และ 19 เพราะปัญหาปัจจุบันเกิดจากฝ่ายการเมืองและประชาชนไม่ได้ใช้แนวทางประชาธิปไตยในทางสร้างสรรค์ มีการใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการคอร์รัปชัน จนเกิดวิกฤตนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาล คสช.ต้องแก้ไข การปฏิรูปประเทศจะทำได้ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย การใช้กฎหมายมาตรา 116 เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยจึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศ แม้จะถูกมองว่าใช้พร่ำเพรื่อก็ตาม เพราะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของผลแห่งคดี เป็นเพียงวิถีทางการเมืองเพื่อให้เกิดความกลัว เป็นการปรามไม่ให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อย แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วคนจะไม่ถูกลงโทษเพียงแต่ถูกจำกัดสิทธิเท่านั้น
ในงานเสวนาครั้งนี้วิทยากร 2 คน คือ นายสุณัย และนายจักร์กฤษ เห็นตรงกันว่าการดำเนินคดีต่อนายประวิตร โรจนพฤกษ์ บก.ข่าวสด ภาคภาษาอังกฤษ เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะหากจะมีความผิดก็เป็นความผิดแค่หมิ่นประมาท กลับถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ทั้งที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรานี้