xs
xsm
sm
md
lg

เดินหน้าทำแท้งกฎหมายสื่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สปท.แสบถอดชื่อสมาคมนักข่าวภูมิภาคออก แม้ตัดเงื่อนไขใบอนุญาต-บทลงโทษออก แต่ยังคงคนภาครัฐนั่งเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพ ใจรัฐบาลดันกฎหมายตีทะเบียนสื่อหรือไม่ ด้านองค์กรสื่อเดินหน้าค้าน ยันไม่เข้าร่วม แม้กฎหมายเกิดแต่เดินหน้าไม่ได้สุดท้ายก็แท้ง

ผลการลงมติให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เมื่อ 1 พฤษภาคม 2560 ผ่านความเห็นชอบด้วยมติ 141 ต่อ 13 งดออกเสียง 17 ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกว่า 30 องค์กรที่ไม่สามารถหยุดยั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ชุดของ พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ได้

แม้ขั้นตอนกว่าจะไปถึงประกาศใช้เป็นกฎหมายยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งการเห็นชอบของรัฐบาลจนถึงการลงมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับเจตนาของรัฐบาลว่าต้องการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่ เพราะการดำเนินการแบบ 3 วาระรวดก็เคยทำกันมาแล้ว

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติจาก สปท. พลเอกคณิต ออกมากล่าวว่าได้มีการยอมตัดเรื่องใบอนุญาตสื่อและตัดเรื่องบทลงโทษที่ปรับไม่เกิน 6 หมื่น จำคุกไม่เกิน 3 ปีออกไป แต่ยังคงหัวใจสำคัญของการควบคุมสื่อไว้ นั่นคือสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยยอมปรับลดกรรมการโดยตำแหน่งจาก 4 คนเหลือ 2 คนคือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

เช่นเดียวกับการให้ความหมายของสื่อมวลชนในวงกว้าง ที่ครอบคลุมไปถึงบุคคลที่ใช้โซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก อาจเข้าข่ายที่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับนี้
คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการสื่อสารมวลชน สปท.
สภาวิชาชีพตัวหลักคุมสื่อ

แต่ถึงอย่างไร องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายที่มีหลักการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต

ไม่ว่าจะตัดเรื่องใบอนุญาตและบทลงโทษออกไป แต่หัวใจในการคุมสื่อยังอยู่ที่สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ การมีข้าราชการระดับปลัดกระทรวงเข้ามา 2 ตำแหน่ง ข้าราชการระดับนี้ก็ต้องทำงานเพื่อตอบสนองเจ้ากระทรวง นั่นคือนักการเมืองในอนาคต

แม้โครงสร้างใหม่จะอ้างว่าให้โควตาสื่อไว้ถึง 7 ตำแหน่งจาก 15 ในสภาวิชาชีพ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ในช่วงเริ่มต้น 2 ปีแรกกรรมการในสภาวิชาชีพมี 13 ตำแหน่ง จะมีสื่อจริง ๆ เพียง 5 ตำแหน่ง หากนับรวมสมาคมเคเบิลทีวีด้วยจะเป็น 6

ทั้งนี้สภาวิชีพฯ มีหน้าที่ในการดูแลข้อร้องเรียนต่าง ๆ จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข่าว และมีการพิจารณาลงโทษสมาชิกที่กระทำผิด หากดูเผิน ๆ ก็จะมองว่าฝ่ายสื่อกุมเสียงข้างมากมีโอกาสโหวตชนะสูง แต่ในทางปฏิบัติแล้วเมื่อการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ เสียงของสื่ออาจไม่เป็นไปในทางเดียวกันเสมอไป

ประการแรกตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรสื่อเป็นการเลือกกันเข้ามาทำหน้าที่บริหาร สื่อส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่อาจต้องพึ่งพาเม็ดเงินโฆษณาจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร ที่ผ่านมาก็รู้กันในวงการสื่อว่าบางค่ายได้รับเม็ดเงินโฆษณาจากรัฐบาลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลกำกับดูแล งบประชาสัมพันธ์จะถูกเทไปยังบางค่าย จากหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐบาลก็กลายเป็นสนับสนุนและปกป้องรัฐบาลแทน

ประการที่สอง ผู้แทนจากองค์กรสื่อ บางคนอาจนิยมชมชอบบางพรรคการเมืองเป็นทุนเดิม หากสื่อใดตรวจสอบรัฐบาลมาก ๆ จนเกิดข้อร้องเรียน การพิจารณาตัดสินอาจไม่เป็นไปตามหลักของความถูกต้อง

ประการที่สาม ตัวแทนจากราชการอย่างปลัดสำนักนายกฯ ปลัดกระทรวงยุติธรรม หากเกิดการตรวจสอบรัฐบาลอย่างหนัก การตัดสินจะกล้ายึดหลักความถูกต้อง ยุติธรรมหรือไม่ เพราะหากตัดสินที่ผลตรงข้ามกับความต้องการของรัฐบาล ถามว่าความมั่นคงในหน้าที่การงานของข้าราชการระดับสูงเหล่านั้นจะมีอยู่อีกต่อไปหรือไม่

ดังนั้นโอกาสที่เสียงข้างมากในสภาวิชาชีพฯ จะเทน้ำหนักไปตามรัฐบาลนั้นมีความเป็นไปได้สูง

“เราไม่ปฏิเสธว่าที่ผ่านมาสื่อบางรายก็ต้องการใช้พื้นที่นี้ก้าวขึ้นไปยังตำแหน่งที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่นั่นไม่ใช่วิถีของความเป็นสื่อมืออาชีพ”

เปลี่ยนสมาคมสื่อภูมิภาค

นอกจากนี้ภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ยังพบว่ามีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาที่แตกต่างไปจากเดิม หนึ่งในนั้นคือผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อ ลดตำแหน่งปลัดจาก 4 เหลือ 2 แต่ในช่วงจัดตั้ง 2 ปีแรกให้มีกรรมการ 13 คน เพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ตำแหน่ง ด้วยการเพิ่มผู้แทนจากสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทยเข้ามา

แต่ที่น่าสนใจนั่นคือมีการเปลี่ยนตำแหน่งผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพ จากนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย มาเป็นประธานสภาวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งชาติ

แหล่งข่าวจากสมาคมนักข่าวกล่าวว่า สมาคมนักข่าวภูมิภาคนั้นก่อตั้งมานานแล้วตั้งแต่ปี 2514 เป็นการรวมตัวกันของนักข่าวที่ทำงานในต่างจังหวัด ส่วนสภาวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคนั้นเพิ่งก่อตั้งมาได้ราว 2 ปี เห็นว่าตอนนี้ทางสมาคมนักข่าวภูมิภาคกำลังหารือกันในเรื่องนี้

หากมองภาพรวมของร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว สื่อมวลชนส่วนใหญ่ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไม่เห็นด้วย หากเข้าไปร้องสิทธิดังกล่าวก็เท่ากับว่าอยากให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน แต่หากร่วมกันคัดค้านกฎหมายนี้เรื่องตำแหน่งต่าง ๆ ในสภาวิชาชีพก็จบไปและไม่เกิดความขัดแย้งกันในวงการสื่อมวลชน
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เมื่อ 1 พ.ค.2560
ผ่านได้แต่ไม่เกิด

ตอนนี้ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่าจะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะผู้ที่จะได้ใช้กฎหมายฉบับนี้จริง ๆ คือรัฐบาลหน้า ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องใช้กฎหมายนี้ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองทั้งสิ้น

อย่าลืมว่าการตรวจสอบของสื่อมวลชนนั้น บางครั้งกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลาว่าการบริหารงานของรัฐบาลนั้นๆ ผิดพลาดจริง แต่ถ้ามีกฎหมายนี้สื่อจะถูกตัดตอนในการตรวจสอบ หากรัฐบาลกุมเสียงในสภาวิชาชีพสื่อข้างมากได้แล้วมีบทลงโทษถึงขั้นถอดใบอนุญาต ทำเพียงสักรายเดียว เชือดไก่ให้ลิงดู สื่ออื่น ๆ ก็ยุติการตรวจสอบไปโดยปริยาย

หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านและมีผลบังคับใช้ ในทางปฏิบัติสภาวิชาชีพสื่อจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะหลายหน่วยงานที่ไม่เห็นด้วยหากไม่เข้ามาร่วมในสภาวิชาชีพด้วย ทุกอย่างก็เกิดขึ้นไม่ได้

คุมสื่อได้สบายนักการเมือง

พวกเราทราบดีว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปสื่อของรัฐบาล ด้วยความพึงพอใจที่รัฐบาลเข้ามาแก้วิกฤตการเมืองที่ผ่านมา และที่ผ่านมานักการเมืองเองก็ใช้ทั้งสื่อปกติ(บางค่าย)และสร้างสื่อของตัวเองขึ้นมาจนทำให้เกิดความขัดแย้งกัน แต่นั่นเป็นสื่อเฉพาะกิจคนที่ติดตามก็จะทราบดี

ตั้งแต่อดีตหลายรัฐบาลที่ไม่สุจริตต้องพ้นสภาพไป เริ่มจากการที่สื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบความไม่ถูกต้องหรือไม่สุจริตแทบทั้งสิ้น จากนั้นจึงเป็นภาคส่วนที่มีอำนาจเข้ามาสานต่อ หากสื่อมวลชนถูกกฎหมายตัวนี้คุมอยู่การปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเป็นหูเป็นตาแทนประชาชนย่อมไม่สามารถทำได้

ส่วนข้อกล่าวหาที่ระบุว่าองค์กรสื่อไม่สามารถควบคุมกันเองได้นั้น จึงต้องออกกฎหมายเข้ามาดูแลให้นั้น ในทางปฏิบัติแล้วมีกฎหมายที่คุ้มครองผู้เสียหายจากการนำเสนอข่าวอยู่หลายฉบับ ทั้งกฎหมายหมิ่นประมาท หรือการเผยแพร่ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดจึงเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล มีทั้งแพ้ชนะ คำประกาศขอขมาผู้เสียหายตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ได้เห็นกันมาแล้ว สื่อบางรายก็ถูกพิพากษาจำคุกก็มีเช่นกัน

จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้องค์กรสื่อต้องร่วมกันคัดค้านเพียงลำพัง กลุ่มการเมืองหรือผู้มีอำนาจต่างนิ่งเฉย เพราะหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือบุคคลเหล่านี้ที่จะเข้ามาควบคุมสื่อได้โดยตรง เท่ากับลดอำนาจในการตรวจสอบของสื่อลงไป การออกนโยบายต่าง ๆ ในทางการเมืองจะทำได้สะดวกขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น