สนช.มีมติ 164 ต่อ 1 เสียง รับหลักการในวาระแรก กฎหมายลูกตรวจเงินแผ่นดิน ให้ คตง.มี 7 คน อยู่ 7 ปี ไม่เซตซีโร่ ส่วนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินให้ทำหน้าที่จนกว่าจะมีคนใหม่ “มีชัย” เผยปรับปรุงงาน 2 หน่วยให้สัมพันธ์กัน พร้อมแยกอำนาจบางส่วน สตง.ออก
วันนี้ (31 ส.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 164 ต่อ 1 คะแนนรับหลักการในวาระที่ 1 ของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเสนอตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 30 คน เพื่อพิจารณาในรายละเอียดมีกำหนดเวลาการทำงานให้เสร็จภายใน 50 วันก่อนส่งมาให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาลงมติอีกครั้ง
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีจำนวน 7 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี มาจากบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจเงินแผ่นดิน กฎหมาย การบัญชี การตรวจสอบภายใน การเงินการคลัง และด้านอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจเงินแผ่นดินเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน มาจากการการสรรหาของ คตง. และการลงมติเลือกของวุฒิสภา โดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะมีระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 6 ปี
ขณะเดียวกัน ได้บัญญัติถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นกรณีพิเศษไว้ในมาตรา 87 พอสังเขปว่า ในกรณีที่ผลการตรวจสอบปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส.และ ส.ว.มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย หรือตรวจสอบพบว่าคณะรัฐมนตรีเป็นผู้กระทำการหรืออนุมัติให้กระทำการ หรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแต่ไม่ได้สั่งยับยั้ง ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ขณะที่ บทเฉพาะกาลมาตรา 107 ว่าด้วยการดำรงอยู่ของ คตง.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่ กรธ.ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายได้บัญญัติให้ คตง.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนยังคงให้ดำรงตำแหน่งต่อไปตามเดิม แต่สำหรับผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน ยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่
ทั้งนี้ มาตรา 108 กำหนดให้ คตง.ต้องดำเนินการสรรหาและเสนอชื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใช้บังคับ อย่างไรก็ตาม หากไม่ผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในระหว่างการสรรหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจแต่งตั้งรองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามที่เห็นสมควรเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.กล่าวว่า โดยทั่วไปร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ยึดแนวทางของ คตง.ที่ปฏิบัติกันมาก่อนส่วนใหญ่แต่มีการปรับปรุงบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่าง คตง.และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งที่ผ่านมามีลักษณะต่างคนต่างทำงานและไม่ได้มีความชัดเจน
นายมีชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรตรวจเงินแผ่นดินมีความแตกต่างจากองค์กรอิสระอื่น กล่าวคือ ในกรณีขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินนั้นอำนาจทั้งปวงอยู่ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต่างจากองค์กรอิสระอื่นๆ ที่บุคคลที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการจะเป็นผู้กำกับ ส่วนเจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงแก้ไขปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง คตง.และผู้ว่าฯสำคัญบางประการ เช่น ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต้องเข้าร่วมชี้แจงกับ คตง.โดยตลอดโดยไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียง อีกทั้งยังแยกอำนาจบางส่วนของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินออกมา โดยถ้าเป็นเรื่องการทุจริตจากการใช้งบประมาณผิดระเบียบจะให้สํานักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไต่สวนเบื้องต้นก่อนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป เป็นต้น