นายกฯ ลงนามแก้บทนิยามให้ “บอร์ดพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน” หรือ กพม. ปฏิบัติตามกฎหมายองค์การมหาชน พร้อมเพิ่มอำนาจแทน “บอร์ด ก.พ.ร.” พิจารณาหน่วยราชการ “ยุบ-รวม” หากต้องการแปลงสภาพหน่วยงานเดิมเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พร้อมมีอำนาจพิจารณา “หลักเกณฑ์การนับเวลาการปฏิบัติราชการ” ฉบับปี 2550
วันนี้ (28 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
โดยเพิ่มบทนิยามคำว่า “กพม.” หมายความว่า คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน” พร้อมให้บอร์ด กพม.มีอำนาจหน้าที่แทนคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ในบางส่วนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 เช่น ข้อ 5 ส่วนราชการใดประสงค์จะให้มีการบริหารงานในรูปแบบพิเศษแตกต่างจากระบบราชการ โดยแปลงสภาพหน่วยงานเดิมเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษตามระเบียบนี้ ให้เสนอเรื่องต่อ กพม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กพม.กำหนด เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังแก้ไขคำว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2530” เป็น “พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือน เต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2550”
ทั้งนี้ สำหรับบรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ มติ หรือคำสั่ง ซึ่งได้ออกโดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีอยู่ก่อนวันที่ระเบียบฉบับนี้ใช้บังคับ ให้คงใช้บังคับได้ต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานของหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบนี้
มีรายงานว่า เมื่อต้นปี 2559 นายกรัฐมนตรีได้ลงนามแต่งตั้ง คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน “กพม.” จะมีประธานกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการ 4 คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในการบริหารองค์การมหาชนอย่างน้อยสองคน ให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นกรรมการและเลขานุการ ให้ ก.พ.ร.เป็นผู้รับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของ กพม.
มีอำนาจหน้าที่เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในการจัดตั้ง การรวม หรือการยุบเลิก องค์การมหาชน เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบาย แนวทาง และหลักเกณฑ์กลางที่เกี่ยวกับ การจัดตั้ง การรวม การยุบเลิก การบริหารและพัฒนา และการประเมินผลขององค์การมหาชน เป็นต้น