xs
xsm
sm
md
lg

สวนดุสิตโพล ระบุชาวบ้านจี้ทีมปฏิรูปทำจริงจัง ชี้ ศก.สำคัญสุด แนะทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สวนดุสิตโพล เผยชาวบ้านร้อยละ 66.95 จี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศปฏิรูปอย่างจริงจัง 78.99 ชี้ด้านเศรษฐกิจสำคัญสุด 30.68 คาดหวังมาก 64.65 แนะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี

วันนี้ (19 ส.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,036 คน ถึงความเห็นต่อการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 66.95% อยากให้ปฏิรูปอย่างจริงจัง มีผลงานเป็นรูปธรรม 56.10% มีความสำคัญต่อการพัฒนาและทิศทางการปฏิรูปประเทศ 51.69% เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความสามารถ น่าจะทำงานได้ดี 45.25% เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นประเด็นทางการเมือง และ 38.24% ส่วนใหญ่เป็นคนที่เคยทำงานให้ คสช. ไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่

เมื่อถามถึงความสำคัญของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น 11 คณะ 78.99% ด้านเศรษฐกิจ 72.46% ด้านกฎหมาย 62.56% ด้านการเมือง 61.11% ด้านกระบวนการยุติธรรม 52.42% ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 46.86% ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 44.44% ด้านสังคม 43% ด้านสาธารณสุข 40.05% ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 38.45% ด้านสื่อสารมวลชน และ 36.52% ด้านพลังงาน

เมื่อถามว่า ประชาชนมีความคาดหวังต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ มากน้อยเพียงใด 30.68% คาดหวังมาก เพราะ มีหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศ กำหนดทิศทางการพัฒนาบ้านเมือง อยากเห็นเศรษฐกิจดีขึ้น ประเทศก้าวหน้า ฯลฯ 29.94% ไม่ค่อยคาดหวัง เพราะ ที่ผ่านมายังไม่เห็นผลงานการปฏิรูปที่ชัดเจน ไม่ค่อยมีคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะมีใครเข้ามาทำงานก็ยังเหมือนเดิม ฯลฯ 24.40% คาดหวังค่อนข้างมาก เพราะ ดูจากรายชื่อแล้วเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้ความสามารถ อยากให้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ฯลฯ และ 14.98% ไม่คาดหวัง เพราะเป็นปัญหาที่แก้ยาก ฝังรากลึกในสังคมไทย การเมืองมีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง มุ่งแต่อำนาจและผลประโยชน์ ฯลฯ

เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากฝากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 คณะ 64.65% เน้นปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี 62.11% อยากเห็นผลงานเป็นรูปธรรมชัดเจน ปฏิรูปได้สำเร็จ 55.50% ปฏิบัติหน้าที่ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์ โปร่งใส 47.08% รับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ และ 46.34% สร้างความยุติธรรมและเท่าเทียมในสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น