ประชุม คตช. เล็งให้ ขรก. แจงบัญชีทรัพย์สิน - หนี้สิน ป้องกันทุจริต “ประยุทธ์” สั่งฝ่ายกฎหมาย หาช่องดึง ศอตช. ขึ้นตรงสำนักนายกฯ
วันนี้ (11 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะกรรมการและเลขาฯ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ครั้งที่ 2/2560 ว่า ก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบนโยบายก่อนการปฏิบัติ ว่า การดำเนินคดีกับทุกกลุ่มต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม เจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนที่เข้ามาสนับสนุนการกระทำผิด ต้องถูกดำเนินการด้วย การแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ไม่ใช่แก้ปัญหาเก่าแต่ไปสร้างปัญหาใหม่ นอกจากนี้อนุกรรมการด้านการป้องกันฯ ยังมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยจัดเก็บไว้กับส่วนราชการที่สังกัด โดยใช้ระบบดิจิทัล ซึ่งสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีการศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว โดยนายกฯ ขอให้นำไปศึกษาให้ถ่องแท้ ว่ามีประเทศใดบ้างที่ทำลักษณะนี้ และมีผลกระทบอื่นๆ ตามมาหรือไม่ และถ้าจะทำให้กำหนดกรอบให้รัดกุม อย่าให้มีผลกระทบตามมา การแสดงบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการที่เสนอเป็นการป้องกัน ข้าราชการที่เริ่มรับราชการต้องชี้แจงก่อนเข้ามามีทรัพย์สินอะไรบ้าง พอทำงานไปสักระยะก็จะต้องชี้แจงอีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและปิดโอกาสให้ได้ยั้งคิด โดยนายกฯ ได้สั่งการว่า การดำเนินการครั้งนี้ถ้าจะทำต้องทำทุกกลุ่มเป้าหมาย กำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
ส่วนความคืบหน้าของคดีสำคัญ เช่น กรณีกล้องซีซีทีวีในพื้นที่ภาคใต้ ป.ป.ท. และกระทรวงศึกษาฯ
กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนการเรียกรับเงินแปะเจี๊ยะโรงเรียนสามเสนฯ ได้เสนอความคืบหน้า โดย ป.ป.ท. ได้ตรวจสอบเสร็จแล้ว และจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เร็วๆ นี้ และกระทรวงศึกษาฯ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไปแล้ว กรณีเงินทอนวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้บูรณาการข้อมูลกัน ส่วนจะสาวไปถึงใครอยู่ที่เอกสารหลักฐาน ขณะเดียวกัน นายกฯ ระบุว่า ศอตช. ควรถูกยกระดับเป็นหน่วยงานที่มีกฎหมายรองรับมากกว่าหน่วยงานเฉพาะกิจที่ออกตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯ ได้มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปคิดเรื่องนี้ ว่า ควรเป็นหน่วยงานกลางที่ขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนหน่วยงานราชการหรือไม่ เมื่อถามว่า นายกฯ ได้มีการสั่งการว่าจะต้องออกเป็นคำสั่งเร่งด่วนหรือไม่ นายประยงค์ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขั้นออกเป็นคำสั่ง เพียงแต่นายกฯ มอบให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษา เนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมา เห็นว่า ศอตช. เป็นกลไกเข้าไปขับเคลื่อนการดำเนินงานตรงนี้ นายกฯ จึงอยากให้องค์กรมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ ซึ่งนายกฯ ไม่ได้กำหนดเวลา แต่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องรีบไปดำเนินการ