xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปนคน คนปนข่าว : ป.ป.ช.ยังทำนิ่ง ปมอุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ สงสัย“บิ๊กกุ้ย”ไม่ค่อยหวั่นความผิดอาญา ม.157 แต่เกรงฤทธิ์ “เจ้าพ่อป่ารอยต่อฯ”มากกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: นกหวีด

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ข่าวปนคน คนปนข่าว



** ป.ป.ช.ยังทำนิ่ง ปมอุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ สงสัย“บิ๊กกุ้ย”ไม่ค่อยหวั่นความผิดอาญา ม.157 แต่เกรงฤทธิ์ “เจ้าพ่อป่ารอยต่อฯ”มากกว่า

เมื่อวานเพิ่งจะตอกหน้า“ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณ ว่า....ไปเอง .. พอย้อนๆดู“นายกฯตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เอากับเขาด้วยแฮะ .. กับคิวที่ออกมารับลูก“พี่ป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯความมั่นคง ขู่ฟ่อว่ากลุ่มพันธมิตรฯ อย่าใช้กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาเป็นประเด็นเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง .. บอกอย่ามาอ้างสิทธิมนุษยชน อย่าอ้างรัฐธรรมนูญ เพราะการชุมนุมผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.จราจร-พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ .. ว่าไปเรื่อยแบบไม่ได้มีต้นสายปลายเหตุอะไรเลย ทั้งที่กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ไม่มีใครพูดซักคำว่าจะมีการชุมนุม มีเพียงการแสดงความคิดเห็นว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ควรใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา .. แต่“บิ๊กรัฐบาล” รวมทั้งลิ่วล้อ อย่าง “กำนันสุเทพ”ก็พูดราวกับจะมีใครออกมาชุมนุมวันสองวันนี้อย่างนั้นแหละ .. น่าจะเอาเวลาไปหาทางสกัดม็อบที่เกิดแน่ๆ อย่างมวลชนคนเสื้อแดง-คนรัก“หนูปู”ที่จะแห่กันมาที่หน้าศาลฎีกาฯ วันที่ 25 ส.ค.นี้ จะดีกว่า

ส่วนคนที่น่าจะออกมาพูดที่สุดอย่าง คณะกรรมการป.ป.ช. โดยเฉพาะตัว “บิ๊กกุ้ย”พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคนปัจจุบัน ก็เลือกที่จะเป็น “เสือซุ่ม”ไม่มีการออกมาแสดงจุดยืนต่อข้อเรียกร้องให้พิจารณาอุทธรณ์คดี 7 ตุลาฯ 51 ต่อศาลฎีกาฯเลย .. ข่าวว่าตอนนี้คณะทำงานศึกษาฯ ที่ตั้งมาร่วมสัปดาห์ ก็ยังไร้ความคืบหน้า ทั้งที่ข้อมูลที่อยู่ในมือเกือบจะสำเร็จรูป ประมาณว่า ฉีกซอง ใส่น้ำร้อนหน่อย ก็ทานได้เลย .. แต่นี่เหมือนจะกระเดือกกันไม่ลง ต้องรอทิศทางลมจาก“ท่านประธาน”ว่าจะเอายังไงต่อ .. ความผิดอาญา มาตรา 157 ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ คงไม่น่ากลัวเท่าฤทธิ์ “เจ้าพ่อป่ารอยต่อฯ”กระมัง
สมคิด เลิศไพฑูรย์
** คำสั่ง ม.44 เปิดทางคนนอกเป็น“อธิการบดี”มุ่งแก้เดดล็อก ม.ราชภัฏ-ราชมงคล แต่ระวัง “นายพล”ข้ามห้วยมานั่ง“อธิการฯ มหาลัยรัฐ”


มาอีกคอมโบใหญ่ คำสั่งสารพัดนึก มาตรา 44 .. ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยคำสั่งดังกล่าวให้มีการปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบ และขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือที่เรียกกันว่า “คำสั่งผ่าตัดปปง.” ..หรือแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษา ที่เปิดทางให้ “คนนอก”มาทำหน้าที่อธิการบดี และผู้บริหารได้ .. รวมทั้งใช้โยก กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อบูรณาการ แก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที .. 3 คำสั่งใหญ่ๆนี้ ที่ถูกจับจ้องมากที่สุดคงเป็นคำสั่งเรื่อง ผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่เปิดกว้าง ให้สามารถแต่งตั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่ไม่ใช่“ข้าราชการ-พนักงานมหาวิทยาลัย”เป็น “อธิการบดี-คณบดี” .. ทราบมาว่า หลักใหญ่ใจความมุ่งการแก้ไข “เดดล็อก”ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ-ราชมงคล เกือบ 20 แห่ง ที่ปัจจุบันไม่สามารถแต่งตั้งอธิการบดีได้ อีกหลายแห่งก็ประท้วง-ฟ้องร้องกันวุ่นวาย มีการเปิดโปงเรื่องราวทุจริต กล่าวหากันนัวเนียไปหมด .. ซึ่งต้องยอมรับว่า มีบางฝ่ายที่เห็นด้วยเหมือนกัน เนื่องจากเห็นว่า ระบบสรรหาอธิการบดี-ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาล็อกไว้สำหรับ“คนใน”ที่แม้มีความรู้ แต่ก็ไม่มีประสบการณ์บริหารองค์กรขนาดใหญ่ ก็น่าจะมีช่องให้“มืออาชีพ”ที่เหมาะกับงานบริหารสถาบันการศึกษาเข้ามารับผิดชอบมากกว่า .. อย่าง "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยังชูจั๊กกะแร้เชียร์ การแก้ไขปัญหาของคสช. เพราะเห็นว่าบางมหาวิทยาลัยมีอาจารย์น้อย ติดข้อจำกัดเรื่องข้อบังคับ โดยเฉพาะ ม.ราชภัฏ หรือ ม.ราชมงคล ต่างจาก จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์-มหิดล ที่มีอาจารย์คนในเป็นพันชีวิต

แต่เสียงที่ดังกว่าก็คงเป็นฝ่ายที่แสดงความเป็นห่วงว่า คำสั่งเปิดทางให้ “คนนอก”ที่ว่า จะเป็นการเปิดทางให้กับ“คนนอกมีสี”โดยเฉพาะ “สีเขียว” มานั่งบริหารสถาบันการศึกษาเอาน่ะซิ .. ก็เห็นๆ อยู่ ในยุค “รัฐบาล คสช.”ที่ต้นขั้วมาจากกรมกองทหาร ก็ไว้ใจทหารด้วยกัน เลยได้เห็นระดับนำในองค์กรต่างๆ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ มีทหารเข้ามานั่งพรึ่บพรั่บ ตามมอตโต“เป็นทหาร ได้อะไรมากกว่าที่คิด” .. ก็เลยเกิดอาการ“หวาดระแวง”กันตามระเบียบ .. ไม่ต้องที่ไหนไกล ม.ธรรมศาสตร์ ที่“อธิการบดีสมคิด”กำลังจะครบวาระปลายปีนี้ ก็เข้าข่ายจะได้“อธิการบดีคนนอก”ที่อาจจะไม่ได้พกดีกรี “ศาสตราจารย์ ป.เอก”แต่อาจจะพกดีกรี“พลเอก”มา .. จะหาว่าอคติเกินเหตุ ก็ว่ากันไป แต่ถ้า“รัฐบาลคสช.”จะพิสูจน์ออกคำสั่งเพื่อแก้ปมในสถาบันที่มีปัญหา ก็ต้องรับฟัง “ข้อห่วงใย”จากคนนอก คสช.เช่นกัน .. เอะอะจะส่ง“นายพล”ข้ามห้วยมาคุม “มหาลัยรัฐ”เหมือนเวลาแก้ปัญหาเก้าอี้นายพลไม่พอ แล้วส่งข้ามหัวไปคุมหน่วยงานภาครัฐอื่น มันก็ไม่สวย เท่าไรนะ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์
** สตง.ขวางอ้อยเข้าปากช้าง “เน็ตชายขอบ”มูลค่า 1.3 หมื่นล้าน โดนเบรกล้อปัด หนังสือท้วงถึง กสทช. นานแล้ว แต่เดินหน้าประมูลเฉย แถม “เลขาฯ ฐากร”เอามาปั่นดราม่า ทำเพื่อประชาชนอีก

โบราณว่า จิ้งจกทักยังต้องฟัง .. แต่หน่วยงานภาครัฐเมืองไทยนี่แปลก เวลาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ หรือเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล กลับไม่ค่อยจะฟัง .. ชัดๆ เลยก็กรณีของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่คล้ายจะเป็น“ไม้เบื่อไม้เมา”กันมานาน ตั้งเรื่องการประมูลคลื่น 3จี-4จี้ งี้ คูปองทีวีดิจิทัล งี้ สตง.ที่ทำหน้าที่ "ตรวจสอบเงินแผ่นดิน" ท้วงไป ไม่ค่อยจะสนใจ .. อย่างการแจกคูปองซื้องกล่องทีวีดิจิทัล เมื่อปี 2557 ถ้าไม่ใช่จังหวะที่คสช.เข้ามา ก็“หวานคอแร้ง”จากราคาที่ กสทช. ตั้งไว้ 1 พันบาทถ้วน ก็โดนดั๊มพ์ฮวบ เหลือแค่ 690 บาท ส่วนต่างที่หายไปทำเอา“บิ๊กซอยสายลม”ตาเขียวปั๊ดทีเดียว ..

ล่าสุดกับโครงการ“เน็ตชายขอบ”หรือโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ ที่ใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (USO)ก็มีหนังสือจาก สตง. ท้วงมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ค.60 .. กสทช.ก็ทำเมิน ไม่ฟังอีร้าค้าอีรม เดินหน้าเปิดประมูลโครงการ USO จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ไปเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ผู้ชนะ 4 ราย ใน 8 สัญญา มูลค่ารวมราว 1.3 หมื่นล้านบาท เรียกว่า “แบ่งเค้ก”กันเสร็จสรรพ เตรียมชงให้“บอร์ด กสทช.”พิจารณาอนุมัติ เมื่อวาน (9 ส.ค.) เพื่อลงนามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง ภายในเดือนส.ค.นี้ .. ทว่าเจอข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 ฉบับวันเดียวกัน ดักเอาไว้ก่อน ก็ถึงกับชะงัก ถอนวาระออกจากการประชุมบอร์ด กสทช. แทบไม่ทัน .. ก่อนที่ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. จะออกมาตีหน้าเศร้า บ่นท้อแท้ใจ ที่ถูกสตง.ท้วงติง จนโครงการเดินหน้าต่อไม่ได้ อาจต้องยกเลิกผลประมูล ทั้งที่เป็นโปรเจกต์ที่ดี อยากให้มอบให้เป็น“ของขวัญประชาชน” ..บอกด้วยว่า “ไม่นิ่งนอนใจ”ข้อท้วงติงของ สตง. กำลังร่างหนังสือชี้แจงอยู่ แต่ถ้า สตง.ไม่พอใจคำตอบ ยังมีข้อสงสัย กสทช. ก็พร้อมจะยกเลิกการประมูลทันที ประชดไปอีก ..

ฮัดช่าาา “เลขาฯฐากร”พูดไปได้ ไม่นิ่งนอนใจ หนังสือ สตง.ร่อนมาถึงก่อนการประมูลด้วยซ้ำ ก็ยังไม่หยุด ประมูลเสร็จยังมานั่งแถลงผลงานความสำเร็จ .. พอเรื่องแดงขึ้นมา ก็มาบ่นน้อยอกน้อยใจ แบบนี้ “เจตนาไม่ค่อยดี”เท่าไรนะท่าน .. อารมณ์เหมือนคนผิดหวังที่อ้อยกำลังจะเข้าปาก แต่โดนปัดร่วงเสียก่อน .. แล้วยังมีหน้ามาบ่นกะปอด กะแปด ว่า ทำเพื่อประชาชนอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งที่สาระในหนังสือ สตง.ไม่ได้ให้ยกเลิกโครงการ แต่ให้ทบทวนการดำเนินการให้เป็นไปตามมติครม. และรัฐธรรมนูญ รวมทั้งโครงการ“เน็ตประชารัฐ”ที่ดูจะซ้ำซ้อนกัน ของกระทรวงดิจิทัลฯ แต่นั้น .. นี่ก็เอามาปั่นดราม่าไปซะไกลเลย.

ช.ชฎา
กำลังโหลดความคิดเห็น