รายงานพิเศษ...
ทั้งที่เสาธงของโรงเรียนยังจมอยู่ในน้ำ แต่มีคำสั่งให้โรงเรียนบ้านปากบางกลม ม.4 ต.ชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ต้องเปิดให้ได้ในวันนี้ (17 ม.ค.) พร้อมกับโรงเรียนอื่นๆ
โรงเรียนบ้านปากบางกลม น่าจะไม่ใช่โรงเรียนเดียวที่ประสบกับภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงต้นเดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้มีหลายโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมแต่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนตามปกติได้แล้ว ทั้งนี้ ก็เนื่องจากอาจจะไม่ได้รับความเสียหายมากนัก
แต่ขณะที่โรงเรียนหลายแห่งในอำเภอชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ครั้งนี้ถูกน้ำท่วมหนักเป็นประวัติการณ์ สร้างความเสียหายให้แก่ชุมชน รวมไปถึงวัด และโรงเรียนอย่างมหาศาล โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านปากบางกลม ม.4 ต.ชะอวด ซึ่ง “MGR Online ภาคใต้” ได้ส่งผู้สื่อข่าวเกาะติดพื้นที่ และรายงานสดอย่างต่อเนื่องมานับตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค.เป็นต้นมา (ชมคลิปรายงานสดจากคลิปวิดีโอ)
จะเห็นว่าในวันที่ 6 มกราคม 2560 สภาพของโรงเรียนบ้านปากบางกลมนั้นถูกน้ำท่วมสูง และมีอุปกรณ์การเรียนการสอนได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด เป็นความเสียหายที่หนักกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในที่ลุ่มต่ำติดป่าพรุ และอยู่ใกล้คลองชะอวด ซึ่งเป็นจุดที่มักจะถูกน้ำท่วมขังทุกปี ซึ่งหากจะให้ปลอดภัยไม่ให้เกิดความเสียหายโรงเรียนนี้ต้องสร้างแบบยกพื้นให้สูงกว่าปัจจุบัน ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบันบอกว่าเคยเสนอเรื่องนี้ไปหลายครั้งแต่ถูกปฏิเสธ
ล่าสุด วันที่ 16 มกราคม 2560 “MGR Online ภาคใต้” เกาะติดสถานการณ์ และรายงานสดผ่านหน้าแฟนเพจ ให้เห็นว่าน้ำที่เข้าท่วมชุมชนต่างๆ ทยอยลดระดับลงจนเกือบปกติ ยกเว้นบริเวณ ม.4 และ ม.7 ต.ชะอวด ที่น้ำลดจากผิวถนน แต่บ้านเรือนของประชาชนยังมีน้ำท่วมล้อมรอบสูงเกือบระดับ 1 เมตรในบางจุด รวมทั้งที่โรงเรียนบ้านปากบางกลม น้ำที่เข้าท่วมตัวอาคารเรียนแห้งลงมาแล้ว แต่บริเวณสนามของโรงเรียนทั้งหมด รวมทั้งหน้าเสาธงที่เด็กนักเรียนใช้เข้าแถวเคารพธงชาติยังมีน้ำท่วมขังไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร ขณะที่อุปกรณ์การเรียนการสอนทุกห้องเรียนได้รับความเสียหาย และยังมีข้าวของกระจัดกระจายทุกห้อง
และภาคประชาชนจำนวนมากจับตาดูสถานการณ์เตรียมให้การช่วยเหลือฟื้นฟูโรงเรียนบ้านปากบางกลม โดยจะทำในช่วงหลังน้ำในสนามหญ้าลดลงแล้ว และเฝ้าระวังสถานการณ์พายุฝนที่มีการแจ้งเตือนให้ระวังในระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2560 นี้ ตามการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่แจ้งเตือนประชาชน
ในสภาพของโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอน ว่าที่ ดร.ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ ผู้อำนวยการโรงเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ชายขอบกันดาร และยากจนแห่งนี้ได้ต่อรองขอผ่อนผันจากหน่วยเหนือให้เลื่อนเปิดการเรียนการสอนไปอีกสัก 2 วัน เพื่อทำความสะอาด และฟื้นฟูโรงเรียนซึ่งยังอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าหนัก! แต่กลับถูกปฏิเสธ
ผู้อำนวยการคนนี้เป็นใครมาจากไหนจึงกล้าต่อรองกับหน่วยเหนือทั้งที่อาจจะรู้อยู่แล้วว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร
“MGR Online ภาคใต้” ได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านในละแวกชุมชนหน้าโรงเรียนบ้านปากบางกลม ว่า ผู้อำนวยการคนนี้แม้เป็นผู้หญิงแต่ทุ่มเทให้แก่โรงเรียนประถมเล็กๆ แห่งนี้เป็นอย่างมาก
“เวลาของงบอะไรไป เช่น ขอชุดกีฬาให้เด็กนักเรียน ถ้าขอไปแล้วไม่ได้แกยังพยายามระดมทุนจากเพื่อนๆ มาซื้อให้นักเรียนจนได้”
สัญญา ไกรสยุมพร ศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านปากบางกลม บอกว่า ความจริงผู้อำนวยการที่มาประจำอยู่ที่โรงเรียนบ้านปากบางกลม เป็นครูที่ดี และมีความตั้งใจบริหารโรงเรียนกันทุกคน
“แต่ส่วนใหญ่มาได้ไม่นานก็ถูกย้าย แต่ ผอ.ขวัญจิตต์ รู้สึกว่าจะเป็นผู้อำนวยการหญิงคนแรก ชาวบ้านทุกคนยอมรับว่าเก่ง และทุ่มเทให้โรงเรียนมาก อายุไม่มาก และมาอยู่ได้ไม่นานแต่ทำสิ่งดีดีให้แก่โรงเรียนได้หลายสิ่ง”
“MGR Online ภาคใต้” ได้พบกับ ผอ.ขวัญจิตต์ ครั้งแรกโดยบังเอิญขณะกำลังรายงานสดสภาพโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมโดยต้องนั่งเรือเข้าไป และเมื่อไปถึงในโรงเรียนพบว่า ผอ.ขวัญจิตต์ กำลังนั่งเรือตรวจดูสภาพความเสียหายของโรงเรียนอยู่พอดี โดยเดินทางมาพร้อมกับคณะครูของโรงเรียน เราเก็บความสงสัยมานานอยากรู้ประวัติของผู้อำนวยการหญิงแกร่งคนนี้ ต่อมา จึงได้ทราบจาก “ศิริวร แก้วกาญจน์” นักเขียนรางวัลศิลปาธร และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผจญภัย ว่า “ขวัญจิตต์” เป็นนักอ่าน เป็นกวี และเป็นน้องสาวของเขาเอง
“ลูกพี่ลูกน้อง เป็นลูกของน้องสาวแม่ผม เติบโตมาด้วยกันตั้งแต่เด็กๆ เลย”
“ขวัญจิตต์” เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดพระบาท (บ้านอยู่ริมเขาพระบาท ที่นั่นน้ำไม่เคยท่วมถึง-ตั้งแต่ไหนแต่ไร เธอไม่เคยมีประสบการณ์กับน้ำท่วม แต่พอมาเป็นครู เจอน้ำท่วมแทบทุกปี)
เรียนมัธยมที่โรงเรียนเชียรใหญ่สามัคคีวิทยา (ลูกศิษย์คนโปรดของ อ.สมทรง ฝั่งชลจิตร น้องชายลุงลองเรา ตอนเรียน อ.สมทรง เคยเชิญลุงลองไปพูดให้นักเรียนฟังเกี่ยวกับการอ่านเขียน)
“ขวัญจิตต์ ชอบการอ่านการเขียนมาพร้อมๆ กับผมแหละ ผมอ่านไรขวัญจิตต์อ่านนั้น ผมเขียนบทกวี ขวัญจิตต์ก็ฝึกเขียน ผมวาดรูป ขวัญจิตต์ก็ฝึกวาด”
ไปต่อที่ มศว สงขลา มีบทกวีลงตีพิมพ์ในช่วงนี้ เยอะเลยนะ จบโทอาจารย์ชวนไปสอนหนังสือที่ มศว (ตอนนั้นสอนประถมที่โรงเรียนบ้านบางสิบบาท อ.ปากพนัง)
แต่เธอไม่อยากทิ้งเด็กๆ ไป ตอนเป็นครูน้อย ถูกผู้บริหารใช้ให้ทำหน้าที่แทนบ่อยๆ (รวมทั้งเพื่อนๆ ครูก็ด้วย) จนเหมือนผู้บริหารคนหนึ่ง (แต่เงินเดือนเท่าครูปกติ)
นั่นแหละที่เธอบอกตัวเองว่า ถ้างั้นก็ลาไปเรียนด้านบริหารเองเสียเลยดีกว่า จึงลาไปต่อ ป.เอก ที่ มสธ. จบมาก็ไปอยู่โรงเรียนบ้านปากบางกลม
ประวัติเพิ่มเติม ดร.ขวัญจิตต์ เนียมเกตุ จบคุรุทายาท ปี 2539 บรรจุครั้งแรก 1 ก.ค.2539 โรงเรียนบ้านบางสิบบาท ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
ปี 2554 จบปริญญาโท บริหารการศึกษา ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และปี 2555 สอบเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถานศึกษา แต่ขอลงตำแหน่งเลือกโรงเรียนในปี 2556 โรงเรียนบ้านปากบางกลม จนปัจจุบัน เลือกเพราะตั้งใจเลือกเองโรงเรียนนี้
ปัจจุบัน กำลังศึกษาระดับปริญญาเอก บริหารการศึกษา ม.สุโขทัยธรรมาธิราช สนใจเรื่องการเขียนหนังสือ การอ่าน การพัฒนาเด็ก การฝึกสมาธิ กำลังจะจบ ป.เอกในเร็วๆ นี้ เหลือสังเคราะห์งานอีกนิดหน่อยเก็บข้อมูลครบแล้ว ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องกลยุทธ์การบริหารจัดการโรงเรียนทางเลือกในประเทศไทย
“ชอบศิลปะเพื่อการเยียวยา พวก mandalas ทุกวันนี้เป็น ผอ.ก็ยังสอน เพราะครูไม่ครบชั้น ผอ.ต้องสอน ป.4 เด็กๆ เลยเรียกคุณครู ผอ.”
“เธอเป็นหนอนหนังสือที่เข้มข้น เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เธอเคยเขียนบทกวีใช้นามปากกา “ภัสมะ” ลงตีพิมพ์ในนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ส่วนกลางนับร้อยชิ้น เธอวาดรูป และเขียนนิทานเด็กไว้สอนเด็กๆ ที่ขาดแคลนหนังสือนิทาน ต่อมา นิทานบางเล่มได้รับการตีพิมพ์โดย สนพ.จากกรุงเทพฯ เคยมีอาจารย์มหาวิทยาลัยเชิญชวนเธอไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ด้วยอยากให้เธอเหนื่อยน้อยลง แต่เธอชอบที่จะสอนเด็กๆ มากกว่า
“หากคุณมองลึกเข้าไปในดวงตาของพวกเด็กๆ แล้ว คุณจะไม่มีวันทิ้งพวกเขาไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยไหนได้แน่ๆ”
นั่นคือประโยคที่เธอพูดกับใครต่อใครที่ปรารถนาดีกับเธอ...
พบกับรายงานสด “ภารกิจฟื้นฟูโรงเรียนบ้านปากบางกลม” อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เริ่ม 17 ม.ค.นี้เป็นต้นไป ติดตามได้จากหน้าแฟนเพจ “MGR Online ภาคใต้” ในเฟซบุ๊ก