xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” ชี้ 3 เหตุค้านจับเบอร์รายเขต อัด กรธ.บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น ท้ารับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกต. สมชัย” ยก 3 เหตุค้านพรรค - ผู้สมัครจับเบอร์รายเขต ชี้ ยากบริหารจัดการ - ควบคุมทุจริตเชื่อบัตรปลอมว่อน ซัด กรธ. บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น นึกอยากลองก็ไม่คิดได้คุ้มเสียหรือไม่ ท้าประกาศรับผิดชอบหากแก้ซื้อเสียงไม่ได้ หยันใช้ระบบไพรมารีให้ ปชช. ร่วมเลือกผู้สมัครแล้วได้เสาไฟฟ้าก็ต้องยอมรับ

วันนี้ (8 ส.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. แถลงกรณี กรธ. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. โดยกำหนดให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจับเบอร์รายเขต ว่า เป็นวิธีการที่แตกต่างจากอดีต ซึ่งจากที่ได้รวบรวมสถิติการเลือกตั้ง ส.ส. ย้อนไปตั้งแต่ปี 2544 - 2557 รวม 6 ครั้ง มีเพียงครั้งเดียว คือ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 ที่หมายเลขผู้สมัครรายเขต กับหมายเลขผู้สมัครบัญชีรายชื่อเป็นคนละหมายเลข เนื่องจากรูปแบบการเลือกตั้งมีการแบ่ง ส.ส. เขตออกเป็น 8 กลุ่มจังหวัด ฉะนั้น ถ้ามองย้อนหลังไป 20 ปี ถือว่าประชาชนชินกับการที่ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองใช้หมายเลขเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จึงจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน จะเห็นบรรยากาศว่า ถนนสายเดียวกัน ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน แต่จะมีเบอร์ต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่า หลักการดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญถ้าใช้บังคับกกต. ก็สามารถปฏิบัติได้ แต่จะปฏิบัติได้ยากโดยอาจจะมีปัญหาใน 3 ส่วน คือ 1. กรณีการรับสมัคร จับสลากหมายเลขผู้สมัครจากที่เคยจับสลากเพียงแค่จุดเดียว กกต. ก็ต้องจัดชุดแยกดำเนินการใน 350 เขต หากเกิดกรณีการปิดล้อมจับสลากไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาไม่สามารถจัดเลือกตั้งภายในวันเดียวได้ เพราะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย ก็ต้องมีการเลื่อนวันเลือกตั้งเพื่อให้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

2. การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งก็ยากที่จะควบคุมในเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานการปลอมแปลงบัตรเพราะเมื่อพรรคและผู้สมัครไม่ใช้หมายเลขเดียวกัน และหลักการใหม่ให้ใช้บัตรใบเดียว ดังนั้น ในหนึ่งบัตรก็จะต้องมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร สัญลักษณ์และชื่อพรรคการเมือง ก็เท่ากับว่า แบบของบัตรก็จะมี 350 แบบ ตามแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ใช่บัตรรูปแบบเดียวอย่างที่เคยใช้ในการเลือกตั้งที่ผ่านมา การจัดพิมพ์เพื่อให้ทันกับเวลา จึงต้องแยกพิมพ์เป็นของแต่ละจังหวัดในโรงพิมพ์ของท้องถิ่นนั้น ไม่สามารถใช้โรงพิมพ์ส่วนกลางที่เดียวได้ ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการกำหนดมาตรฐานบัตรเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสูง เช่น การใช้ลายน้ำ การกำหนดรหัสลับ สีของบัตรเลือกตั้ง ไม่สามารถทำได้ เพราะโรงพิมพ์ท้องถิ่นไม่มีศักยภาพเพียงพอ

“ผลก็คือพอถึงเวลาเปิดหีบ 8.00 น. ของวันเลือกตั้ง เมื่อประชาชนเข้าแสดงตนรับบัตรเลือกตั้งแล้ว สีและลักษณะของบัตรเลือกตั้งถูกเปิดเผยเชื่อว่าไม่เกิน 12.00 น. บัตรปลอมก็พิมพ์เสร็จแล้ว ก็จะถูกหัวคะแนนแจกให้กับประชาชนเพื่อไปกากบาทแล้วพกเข้าหน่วยเลือกตั้งไปหย่อน สลับกับเอาบัตรเลือกตั้งจริงออกมา นี่คือ สิ่งที่ กกต. เป็นห่วงกลัวว่าจะเกิดการรั่วไหลในการพิมพ์แล้วเกิดการโกงกันทั้งประเทศ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ยกเว้นว่าอยากทำให้โกงกันทั้งบ้านทั้งเมืองก็ทำกระบวนการนี้”

3. การรวมคะแนน เจ้าหน้าที่ กกต. ยืนยันว่า รูปแบบที่ กรธ. คิดยังสามารถเขียนโปรแกรมประมวลผลได้ แต่ปัญหาคือตรวจสอบของภาคประชาชน หรือองค์กรที่ร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งจะทำให้ได้ยาก ซึ่งเท่ากับว่า การเลือกตั้งจะอยู่ภายใต้มือ กกต. ไม่ใช่ กกต. ต้องการโกง แต่ต้องการให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้ง่าย และรูปแบบใหม่ก็จะทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น

“คนที่บอกว่าทำแบบนี้แล้วการซื้อเสียงจะหมดไป กล้าไหมที่จะบอกว่า ถ้าการซื้อเสียงยังเกิดขึ้นมากกว่าเดิม จะรับผิดชอบอย่างไร ถ้าเราเทียบกับการเลือกตั้งระดับเล็กๆ ในท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เบอร์ไม่มีความหมาย จำแค่หน้า จะเห็นว่าการซื้อเสียงกลับรุนแรงยิ่งกว่า ดังนั้น คิดว่าในการเลือกตั้ง เมื่อเราให้พรรคใช้ระบบไพรมารีโหวต แต่ละพื้นที่ประชาชนเป็นฝ่ายเลือกผู้สมัครแล้ว ถ้าที่สุดเขาจะเลือกเสาไฟฟ้าเราก็ต้องยอมรับ”

นายสมชัย ยังกล่าวอีกว่า ที่ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ ตนเองไมได้อยู่ในจุดที่จะได้ประโยชน์อะไร เพราะการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นหน้าที่ของ กกต. ชุดใหม่ ซึ่งเป็นห่วงว่า กกต. ชุดใหม่ และสำนักงานจะต้องทำงานลำบากมากขึ้น แต่ถ้าใช้รูปแบบเดิมซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสม การจัดการก็สะดวก พรรคการเมืองก็ไม่เหนื่อย การทำเอกสารหาเสียงก็ง่าย ไปหาเสียงแต่ละเวทีก็ไม่ต้องจำว่าเขตนี้เบอร์อะไร เพราะพรรคการเมืองไม่ได้ว่างมากเท่าคนร่างกฎหมาย อีกทั้งเห็นว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่อยากจะคิดอะไรเขียนอะไรใหม่ ก็เอามาลองไปเรื่อยๆ ข้อดีมีอยู่แน่นอน แต่ก็ต้องพิจารณาวันมันคุ้มเสียหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น