เมืองไทย 360 องศา
หากพิจารณาตามตารางเวลาก็ต้องยอมรับว่าในเดือนสิงหาคม ถือว่าเป็นเดือนที่น่าจับตามองจริงๆ ไม่ว่าฝ่ายไหนหรือใครก็ตามที่ติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อยก็ต้องเห็นตรงกันว่ามันต้องลุ้นกันจนเหงื่อตกจริงๆ โดยเฉพาะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวก ที่ล่าสุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดวันพิพากษา คดีรับจำนำข้าว ในวันที่ 25 สิงหาคม ในเวลา 9.00 น. และในวันเดียวกัน ยังกำหนดวันพิพากษา บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กับพวก ในคดีทุจริตจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐเก๊
โดยก่อนหน้านั้น ศาลฎีกาฯได้ให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นฝ่ายจำเลยแถลงปิดคดีด้วยวาจา ในวันที่ 1 สิงหาคม พร้อมทั้งอนุญาตให้คู่ความทั้งสองฝ่ายยื่นคำแถลงปิดคดีเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในวันที่ 15 สิงหาคม
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ถือว่าเป็นการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยจำนวน 3 ปาก ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 คดีที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่ง หรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท
นั่นเป็นช่วงวันเวลาสำคัญทั้งก่อนและจนถึงกำหนดการสำคัญที่เป็นวันชี้ชะตา ในวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งแน่นอนว่าถ้าใครเป็น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ย่อมต้องรู้ดีว่า “มันเครียด” กันขนาดไหน เพราะนี่คือวันชี้ชะตา ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกมาในทางบวก หรือลบ คุกหรือไม่คุก เป็นไปได้ทั้งนั้น ซึ่งมองอีกมุมหนึ่งมันก็น่าเห็นใจไม่น้อยเหมือนกัน
แต่ถึงอย่างไร นี่มันเป็น “กระบวนการยุติธรรม” ทุกอย่างมันมีที่มา หรือตามหลักศาสนาพุทธก็ต้องบอกว่า ทุกอย่าง “เกิดแก่เหตุ” แม้ว่านาทีนี้จะวิจารณ์หรือแสดงความเห็นมากไม่ได้ เนื่องจากเกรงจะล้ำเส้น
อย่างไรก็ดี ก่อนจะถึงวันสำคัญดังกล่าวกลับเห็นความเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้น ที่รับรองว่าไม่ว่าใครก็พอมองออกว่ามัน “ส่อไปในทางผิดปกติ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่าจับตามอง ก็คือ การเคลื่อนไหว “ระดมมวลชน” ที่อ้างว่าเตรียมมาให้กำลังใจฝ่ายจำเลย คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยพิจารณาจากแนวโน้มที่น่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในวันพิพากษา สังเกตจากวันไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่มีมวลชนเข้ามาในบริเวณศาลหลายร้อยคน
แม้จะมีการยืนยันว่า มวลชนที่ว่านั้นมีเจตนาเข้ามาเพื่อให้กำลังใจ ก็ไม่มีใครเถียง และถือว่าเป็นสิทธิที่ทำได้ ตามความรู้สึก และความชอบพอหลงไหลเป็นการส่วนตัว แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสังเกตก็คือ การ “ตื่นตัว” รับมือเหตุไม่คาดหมายหรือ “มือที่สาม” ของฝ่ายความมั่นคงของรัฐ ที่ตอนแรกแค่ระดับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้ามาบัญชาการเหตุการณ์ แต่ในที่สุดก็เปลี่ยนมาเป็นระดับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ดูแลคดีฝ่ายความมั่นคง เดินทางมาตรวจสอบสถานการณ์ด้วยตัวเอง พร้อมกับเสริมกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด นั่นก็เหมือนกับการ “ได้กลิ่น” ผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นหรือไม่
น่าสนใจก็คือ การให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ย้ำว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ได้เตรียมกำลังเอาไว้เพื่อป้องกันเหตุร้าย และป้องกันมือที่สามเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญยังเตรียม “แผนกรกฎ” เพื่อแก้สถานการณ์ทั่วประเทศอีกด้วย
ขณะที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ก็กล่าวว่า ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไปจนถึงวันที่ 25 สิงหาคม แต่เป็นลักษณะทำความเข้าใจกับประชาชน ในเรื่องคดีความในศาล ซึ่งผลจะออกมาอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ของศาล
ขณะเดียวกัน มีรายงานจากฝ่ายความมั่นคงที่ให้จับตาความเคลื่อนไหวของมวลลชนทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการบิดเบือนปลุกระดมมวลชนให้ก่อความวุ่นวาย อีกทั้งการเตรียมทีมเจ้าหน้าที่ เพื่อลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเรื่องของคดีความ และการละเมิดอำนาจศาล ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่ามีความกังวลเรื่องการสร้างความปั่นป่วนเหมือนกัน
อย่างไรก็ดี หากย้อนเวลากลับไปในช่วงหลายปีก่อน นั่นคือ ในช่วงปี 2544 ที่มีเปรียบเทียบกับคดี “ซุกหุ้น” ของ “พี่ชาย” คือ ทักษิณ ชินวัตร ที่ตอนนั้นมีการสร้างกระแสกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีการอ้างถึงการเป็นตัวแทน 14 - 15 ล้านเสียงของชาวบ้านที่เลือกเข้ามา
แม้ว่าการเคลื่อนไหวแบบดังกล่าวในเวลานี้จะยังไม่เกิดขึ้น หรือยังมองไม่เห็น อีกทั้งสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิง แต่ประมาทไม่ได้เป็นอันขาด เพราะเวลานี้ยังมีบางคนในเครือข่ายของพวกเขา พยายามชี้ให้เห็นว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ใช่ถูกดำเนินคดีในข้อหาทุจริต แต่เป็นเรื่องของความเห็นทางด้านนโยบายที่มีเจตนาทำเพื่อประโยชน์ของชาวนาคนยากจน รวมไปถึงบางคนที่ยังระบุว่า เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งนั่นหมายความว่า ยังมีความพยายามบิดเบือนอยู่ตลอดเวลาก็ยังมีอยู่เหมือนกัน
อย่างไรก็ดี น้ำหนักในเรื่องแบบนั้น นาทีนี้ถือว่าทำได้ยากกว่าเดิม เพราะถือว่าทุกอย่างอยู่ในขอบเขตอำนาจศาลแล้ว และที่ผ่านมาทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่างก็หาพยานหลักฐานมาต่อสู้หรือพิสูจน์กันตามขั้นตอน อีกทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีวิธีการสอบหาความจริงด้วยการ “ไต่สวน” และที่ผ่านมาฝ่ายจำเลยคือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ต่อสู้หักล้างอย่างเต็มที่ และยืนยันหลายครั้งว่า มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จึงไม่น่าจะปัญหา
ดังนั้น ในวันที่ 25 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ต้องจับตามอง เพราะมีสองคดีสำคัญที่ต้องตัดสินชี้ขาดในวันเดียวกัน รวมไปถึงในคดีอื่นที่น่าสนใจ ก็คือ คดีที่อดีตนายกฯอีกคนหนึ่ง ที่กำลังจะถูกพิพากษาคือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ กับพวกจากการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็จะตัดสินกันในเดือนเดียวกันด้วย แม้ว่าต้องลุ้นกันระทึก แต่เมื่อเป็นอำนาจศาล ก็คงไม่มีใครกล้าก้าวล่วงแน่นอน !!