หัวหน้าประชาธิปัตย์ ชี้ปัญหาประชาธิปไตยไทยอยู่ที่การนำไปใช้ ถามใครมั่นใจประชาพิจารณ์ของรัฐบ้าง ระบุยุทธศาสตร์ 20 ปี จำกัดบทบาทของรัฐบาลใหม่ ยันไม่มีปัญหาลงโทษหัวหน้า กก.บห.ปมไพรมารีโหวต แต่เรื่องยุบพรรคอาจมีข้อโต้แย้ง ไม่เหมาะสม บอกทำยังไงให้สมาชิกมีส่วนร่วมเป็นเรื่องใหญ่กว่า รับกังวลกลั่นแกล้งให้เกิดการลงโทษ
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่โรงแรมมณเฑียรริเวอร์ไซด์ ถนนพระราม 3 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้บรรยายในหัวข้อ “กฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ” ตอนหนึ่งว่า เรื่องของรัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างมากในแง่การกำหนดกติกาโครงสร้างของประเทศ ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีรัฐธรรมนูญมาก นอกจากนี้ ปัญหาประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย แต่อยู่ที่การนำไปใช้มากกว่า ขอถามว่าในขณะนี้ใครมั่นใจการทำประชาพิจารณ์ของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ บ้าง เพราะเห็นมีแต่คนออกมาเรียกร้องว่าประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็เช่นเดียวกัน ประชาชนบางคนยังไม่ทราบ แต่รัฐบาลระบุว่าได้ทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งก็ขัดต่อการพัฒนาประเทศ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเรามีปัญหาในเรื่องกฎหมายมากขึ้น เพราะโลกยุคสมัยเปลี่ยนไปเร็วมาก กฎหมายก็ตามไม่ทัน และบางเรื่องอาจกลายเป็นช่องโหว่ของกฎหมายได้ คนเขียนกฎหมายฉบับนี้อาจคิดว่าดีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ และมองว่ายังมีปัญหาอยู่หลายเรื่องซึ่งตนไม่เห็นด้วยต่อการเขียนรัฐธรรมนูญอย่างนี้เพราะขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างมาก ทั้งการจำกัดบทบาทของรัฐบาลที่จะเข้ามาต่อจากนี้ เช่น การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอปรับแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ในประเด็นไพรมารีโหวตที่จะเพิ่มโทษยุบพรรค หากทุจริต ว่าตนเห็นความพยายามที่จะเขียนให้กฎหมายให้มีผลบังคับ เหมือนก่อนหน้านี้ ซึ่งหากปล่อยให้พรรคการเมืองดำเนินการเรื่องไพรมารีโหวต แล้วมีปัญหาความไม่ถูกต้องจะมีบทลงโทษอย่างไร เพราะในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ โดยแนวทางขณะนี้จึงให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรคหรือหัวหน้าพรรค ก็เป็นวิธีการที่ทำได้ และส่วนตัวก็ไม่มีปัญหา แต่หากนำไปสู่การยุบพรรคอาจเป็นข้อโต้แย้ง เนื่องจากการกระทำของบุคคลแต่นำไปสู่การยุบพรรคซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ยกเว้นพิสูจน์ได้ ซึ่งตนเสนอมาตลอดว่าควรลงโทษกรรมการบริหารพรรคแทนการยุบพรรค
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันเรื่องใหญ่กว่าการลงโทษในการทุจริต คือ ทำอย่างไรให้เกิดส่วนร่วมของสมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างมากกว่า เนื่องจากขณะนี้ทรัพยากรพรรคการเมืองมีจำกัด ยังมีผู้สมัครน้อย รวมทั้งปัญหาระบบบัญชีรายชื่อที่ให้เลือกเพื่อเรียงลำดับบัญชีรายชื่อ 150 คนยังมีปัญหา และหากกระบวนการนี้มีการตัดสิทธิพรรคการเมืองหรือตัดสิทธิการส่งผู้สมัคร อาจกระทบต่อพรรคใหม่ พรรคขนาดเล็ก และอาจจะขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนที่อาจจะมีการกลั่นแกล้งเพื่อให้มีการลงโทษนั้นก็ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะทางการเมืองมีเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว จึงต้องมีบทลงโทษผู้ที่กลั่นแกล้งด้วย