xs
xsm
sm
md
lg

กกต.รอเซ็นชื่อครบก่อนชงศาลปมร่าง พ.ร.ป. หนุนแก้ให้ศาล รธน.รับเรื่อง ปชช.โดยตรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“สมชัย” เผย รอ 5 กกต.เซ็นหนังสือ ก่อนชงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.กกต. ย้ำไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แค่มองเห็นปัญหา หนุน กรธ.แก้ไขกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญให้รับเรื่องจากประชาชนได้โดยตรง

วันนี้ (21 ก.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่าขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อให้ กกต.ทั้ง 5 คนเซ็นลงนาม เนื่องจากยังมี กกต.บางคนติดภารกิจที่ต่างจังหวัด การส่งหนังสือดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่าจะต้องส่งเมื่อใด แต่ถ้าส่งภายในวันศุกร์นี้ (21 ก.ค.) จะอยู่ในกรอบ 5 วันที่นายกรัฐมนตรีพักร่างฯ แต่ถ้าส่งในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม ก็จะอยู่ในกรอบระยะเวลา 20 วันที่นายกฯ นำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับหรือไม่รับคำร้องก็ได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจการพิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องก็ไม่มีข้อผูกพันว่าจะต้องชะลอ หรือไม่ชะลอขั้นตอนการประกาศใช้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายต้องประเมินว่าสิ่งที่ดีที่สุดคืออะไร

“ถ้า กกต.จะส่งหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องรอให้ กกต.เซ็นครบทั้ง 5 คน ก็สามารถทำได้เลยไม่ผิดอะไร เพราะนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.ได้เซ็นลงนามเรียบร้อยแล้ว แต่การรอให้ กกต.เซ็นครบนั้นเพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความเป็นเอกภาพของ กกต. รวมทั้งเพื่อเป็นการยืนยันมติของ กกต.ด้วย การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อต้องการให้กฎหมายที่ออกมาดีและสมบูรณ์ที่สุด ไม่เป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งในอนาคต กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติมองเห็นปัญหาอย่างไร จึงสะท้อนให้ทุกฝ่ายได้เห็น ยืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของ กกต.ชุดนี้เลย” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะทบทวนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเพิ่มเงื่อนไขการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของประชาชน ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ดีจะทำให้การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนขึ้น เพราะสิ่งที่เป็นเรื่องกังวลใจของทุกฝ่าย คือการให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อาจทำให้มีคำร้องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป ดังนั้นหากกำหนดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ดี ตนไม่เชื่อว่าการปรับแก้ไขร่างดังกล่าวของ กรธ.ครั้งนี้ เป็นเพราะการที่ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.ป.กกต.
กำลังโหลดความคิดเห็น