xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯ มิลค์บอร์ด สั่งเลิกสัญญาบริษัทนมโรงเรียนรายใหญ่ พบปนเปื้อน “อีโคไล” ซ้ำ-พ่วงตัดสิทธิ 25% “2 บริษัท 7 จังหวัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อนุฯ มิลค์บอร์ด สั่งเปลี่ยนผู้ประกอบการ “นมโรงเรียน 3 ราย” ในพื้นที่ 7 จังหวัด หลัง อย.ตรวจนมถุง/กล่องชนิดพาสเจอไรซ์ไม่ผ่านเกณฑ์ ปนเปื้อน “อีโคไล-แบคทีเรียโคลิฟอร์ม” เผยรายใหญ่เมืองประจวบฯ พบซ้ำ ถูกตัดสิทธิ แถมให้ยกเลิกสัญญาเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน มีผลทันที สั่ง อปท.พื้นที่เปลี่ยนแปลงรับซื้อนมโรงเรียน เทอม 1/2560

วันนี้ (19 ก.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย ว่าเมื่อเร็วๆ นี้คณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน (มิลค์บอร์ด) ได้รับรายงานจากองค์กรส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในฐานะเลขานุการฯ ในกรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจวิเคราะห์คุณภาพตัวอย่างนมโรงเรียนชนิดพาสเจอไรซ์ พบว่ามีคุณภาพและมาตรฐานไม่เป็นไปตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง และผิดหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม ข้อ 5.4

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จึงได้มีคำสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการโครงการนมโรงเรียน และลดสิทธิการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน ส่วนที่เหลืออยู่ในภาคเรียนที่ 1/2560 โดยมีหนังสือไปถึง 3 ผู้ประกอบการ ได้แก่ 1. กรณีสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ค ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรณีตรวจพบเชื่อ อี.โค.ไล. ให้ตัดสิทธิและยกเลิกสัญญาเข้าร่วมโครงการนมโรงเรียน และมีคำสั่งให้สหกรณ์โคมนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) และสหกรณ์โคมชะอำ-ห้วยทราย เข้ารับสิทธิแทนร่วมกันเป็นปริมาณน้ำนมดิบ จำนวน 2.898 ตัน/วัน หรือจำนวน 4,969 ถุง-กล่อง/วัน

2. กรณีสหกรณ์ปศุสัตว์ เขาขลุงราชบุรี จำกัด กรณีพบการปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม ไม่เป็นไปตามกำหนด ให้ลดสิทธิทันทีร้อยละ 25 และให้สหกรณ์โคมนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) รับสิทธิแทนร้อยละ 25 ของน้ำนมดิบ จำนวน 0.7658 ตัน/วัน (ร้อยละ 25 ของ 3.063) หรือจำนวน 4,969 ถุง-กล่อง/วัน

3. กรณีสหกรณ์โคนมอุดรธานี กรณีพบเนื้อนมไม่รวมกับมันเนย ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศหลักเกณฑ์ฯ นมโรงเรียน ข้อ 5.4.3. ให้ลดสิทธิส่วนที่เหลือทันที ร้อยละ 25 โดยให้สหกรณ์โคมนมขอนแก่ จำกัด รับสิทธิแทนร้อยละ 25 ของน้ำนมดิบ จำนวน 0.7850 ตัน/วัน (ร้อยละ 25 ของ 3.140 หรือจำนวน 5,094 ถุง-กล่อง/วัน

มีรายงานว่า คำสั่งดังกล่าวยังขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และโรงเรียนเอกชน ได้ดำเนินการแก้ไขสัญญาซื้อขายใหม่กับผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ที่ได้รับสิทธิแทน ให้เป็นไปตามสิทธิและพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วย

ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการนมโรงเรียนในกรณีดังกล่าว ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี 8 อปท., จ.ราชบุรี 1 อปท., จ.ประจวบคีรีขันธ์ 25 อปท., จ.เพชรบุรี 1 อปท., จ.พังงา 3 อปท., จ.ระนอง 20 อปท. และ จ.อุดรธานี 5 อปท.

มีรายงานว่า ในกรณีของบริษัท สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก ห้วยสัตว์ใหญ่ จำกัด เมื่อปีการศึกษา 2559 เคยถูกตัดสิทธิมาแล้ว จำนวน 37,694 ถุง/กล่อง/วัน ปริมาณน้ำนมดิบ 5.75 ตัน/วัน รวมมูลค่า 24.8 ล้านบาทมาแล้ว การตรวจพบ อี.โค.ไล.ในครั้งนี้จึงถูกตัดสิทธิและยกเลิกสัญญาดังกล่าว

ข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้ตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านโภชนาการ ได้แก่ เนื้อนมไม่รวมไขมัน ไขมัน และโปรตีน และด้านจุลชีววิทยา ได้แก่ จำนวนแบคทีเรียทั้งหมด จุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต เช่น เชื้อโคลิฟอร์ม (Coliform) และเชื้ออี.โค.ไล (E. coli) และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) เชื้อลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) เชื้อซาลโมเนลลา (Salmonella spp.) และเชื้อสเเตปฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 350 (พ.ศ. 2556) เรื่องนมโค

โดยในช่วงปี 2555-2558 ได้ตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียน จำนวน 1,750 ตัวอย่าง (ชนิดพาสเจอไรซ์ 1,190 และยูเอชที 560 ตัวอย่าง) ผลการตรวจ พบว่า ไม่ได้มาตรฐาน 436 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.9 ในจำนวนนี้เป็นนมชนิดพาสเจอไรซ์ 321 ตัวอย่าง และยูเอชที 115 ตัวอย่าง สาเหตุที่ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการ 290 ตัวอย่าง ด้านจุลชีววิทยา 95 ตัวอย่าง และไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา 51 ตัวอย่าง ด้านโภชนาการส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเนื้อนมไม่รวมไขมันต่ำกว่ามาตรฐาน ทางด้านจุลชีววิทยาพบว่านมชนิดพาสเจอไรซ์ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดสูงกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 6.9 จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี ร้อยละ 3.1 และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 3.8 ขณะที่ชนิดยูเอชที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากพบแบคทีเรียทั้งหมดสูงกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 2.9 เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 0.9.
กำลังโหลดความคิดเห็น