xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพเปิดร่างสัญญาประชาคม 10+15 ข้อของนายกฯ “จตุพร” ขอ “บิ๊กตู่” ทำให้เป็นรูปธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
แม่ทัพน้อยที่ 1 เปิดเวทีสาธารณะภาคกลางแจงร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ บวกภาคผนวกของนายกฯ อีก 15 ข้อ ให้ควบคุมพรรครับผิดชอบต่อนโยบาย ด้านประธาน นปช.หวังให้ปรองดองจะสำเร็จ ดูนายกฯ ทำให้เป็นรูปธรรม ส่วนเด็กเพื่อไทยบอกขอไปคุยกันในพรรค ขณะที่อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ไม่ขอวิจารณ์

วันนี้ (17 ก.ค.) ที่กองทัพภาคที่ 1 เมื่อเวลา 13.00 น. พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด เพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคม โดยมีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 312 คนในพื้นที่ จ.ภาคกลาง จังหวัดละ 12 คน 71 พรรค การเมือง 2 กลุ่มการเมือง เช่น นายชวลิต วิชัยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง NGOs ภาคประชาสังคม และ ภาคเอกชนเข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่ง

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณา การบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 ที่มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน และพล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทน คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนฯ หรือคณะอนุกรรมการชุดที่ 3 ที่มีพล.อ.เฉลิมชัย สิทธสาท ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน ได้ร่วมกันกล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการกว่าจะเป็นร่างสัญญาประชาคม โดยเน้นย้ำว่าร่างสัญญาประชาคมเป็นการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน

ขณะที่ พล.ต.อภิศักดิ์ยืนยันว่า เปิดกว้าง ไม่ฟังความเห็นเฉพาะทหารเท่านั้น เช่นเดียวกับ พล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทนคณะอนุฯ 3 ยืนยันว่าร่างสัญญาประชาคมฉบับนี้เกิดขึ้นจากการรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายมากที่สุดในประวัติการณ์ ส่วนข้อสังเกตที่ใช้คำว่า “พึง” เพราะเป็นประชาชน จึงใช้คำว่าพึงในทางปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องใช้คำว่า “ต้อง”

สำหรับเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ บทนำ ความคิดเห็นร่วม และภาคผนวกซึ่งเป็นความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี ที่ส่งมาเพิ่มเติม สำหรับร่างสัญญาประชาคมที่จัดทำเอกสารความคิดเห็นร่วมประกอบด้วย 10 ข้อ คือ 1. คนไทยทุกคน พึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องในกรอบกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิดส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา

2. คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตประกอบอาชีพอย่างสุจริต พึ่งพาตนเองได้ มีคุณธรรมจริยธรรมและร่วมสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพของท้องถิ่นตลอดจนเศรษฐกิจฐานรากเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจเสรี รวมถึงส่งเสริมระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้ยกระดับรายได้และสร้างโอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ 3. คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม และศีลธรรมในการดำเนินชีวิต มีความซื่อสัตย์ ไม่ร่วมมือสนับสนุนการทุจริตและพฤติกรรมมิชอบ รวมถึงร่วมกันตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตในระดับและปราศจากการคอร์รัปชัน 4. คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า และยอมรับเชื่อมั่นกระบวนการจัดการกับทรัพยากรที่สุจริตและเป็นธรรม โดยต้องมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองบนพื้นฐานของประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ

5. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิต และสาธาณสุข ตลอดจนการศึกษาที่มีคุณภาพให้เป็นไปอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข 6. คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม 7. คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน 8. คนไทยทุกคนพึงตระหนักในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากล ตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี 9. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้านให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการดำเนินการทุกขั้นตอน 10. คนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับร่างสัญญาประชาคมมาจากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ถึง 8 พฤษภาคม โดยนำมาร่วมกับทบทวนการศึกษาวิจัยและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งในวันนี้จะเป็นการแถลงถึงขั้นตอนวิธีการจัดทำและเนื้อหาสาระของร่างสัญญาประชาคม รวมถึงกระบวนการการจัดทำความเห็นร่วมที่ทุกเสียงของประชาชน ทั้งข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และประเด็นสำคัญที่มีประโยชน์และมีความสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ในบางเรื่องรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 60%

นอกจากนั้น ยังมีภาคผนวกที่เป็นความเห็นของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 15 ข้อ มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีกลไกในการตรวจสอบ มีกลไกควบคุมให้พรรคการเมืองมีความรับผิดชอบต่อการประกาศ โฆษณานโยบายที่ไม่ได้มีการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน รวมทั้งกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชน

“การทุจริตระดับนโยบายจะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง เช่น การตรวจสอบนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองและประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบทรัพย์สินภาครัฐ นักการเมืองทุกคนต้องยึดถือจริยธรรมและจรรยาบรรณในอาชีพ ภาคการเมืองต้องปรับปรุงกระบวนการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ระบบการเมืองที่เหมาะสม พร้อมกันนั้นคนไทยต้องมีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชนและยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็นนอกจากนี้จะต้องส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์และยุติธรรมรวมถึงการยอมรับผลการเลือกตั้ง ที่เป็นไปด้วยความชอบธรรม” เนื้อหาส่วนหนึ่งของภาคผนวกระบุ

เนื้อหาส่วนใหญ่ยังคงเน้นในเรื่องการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานราก ที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเสรี การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร รวมถึงการให้ความร่วมมือในการจัดการการทุจริตฉ้อฉลและอำนาจนอกระบบอย่างเด็ดขาด โดยการนำหลักธรรมาภิบาลหรือระบบบริหารจัดการที่ดีมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การบริหารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใสและตรวจสอบได้

“ส่วนการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานในภาครัฐและสามารถเจริญก้าวหน้าตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงาน การบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐจึงต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรม มีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้ง พิจารณาความดีความชอบและต้องขจัดการซื้อขายตำแหน่ง หรือการเรียกรับผลประโยชน์ในทุกโครงการ” ภาคผนวกระบุ

ขณะที่นายจตุพรกล่าวแสดงความเห็นในเวทีชี้แจงร่างสัญญาประชาคมว่า เมื่อ คสช.ได้เริ่มกระบวนการสร้างความปรองดองประชาชนก็ไม่เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้ซึ่งตนก็บอกว่าครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้อัญเชิญพระกระเเสรับสั่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในเรื่องดังกล่าว ขอให้แผ่นดินมีความรักความสุขและความปลอดภัยซึ่งเป็นพระกระแสรับสั่งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2559 และ 14 ม.ค. 2560 จึงทำให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือจนกระทั่งวันนี้ซึ่งการทำงานตั้งแต่ชุดเริ่มต้นไม่มีเรื่องขุ่นข้องหมองใจ ทำงานอย่างสุขุมคัมภีรภาพ พูดกันด้วยมธุรสวาจา ซึ่ง 10 ข้อที่ออกมาก็แปลงมาจาก 10 คำถาม โดยเนื้อหา 10 ข้อคือนามธรรม จะให้เป็นรูปธรรมได้นั้นคือ การทำให้ 10 ข้อสามารถสร้างความปรองดองในชาติขึ้นได้จริง

“ผมยินดีให้ความร่วมมือตั้งแต่ต้นจนจบมาตลอด โดยที่ผมและ นปช.ไม่เป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่สำคัญขึ้นอยู่กับผู้ที่มีอำนาจที่รับผิดชอบ ก็คือนายกรัฐมนตรี และคสช. ผู้ซึ่งอัญเชิญพระกระแสรับสั่งมาเชิญชวนประชาชนให้ร่วมปรองดอง หลายข้อแม้จะยังมีข้อสงสัยก็ถือเป็นเรื่องเล็ก ถ้าเราปรองดองกันได้ก็ไม่ต้องกลับไปเหมือนเดิม เรื่องรบกันไม่ยาก แต่เรื่องรักกันยาก ผมหวังว่าให้ปรองดองจะสำเร็จ เพราะหากไม่สำเร็จจะเกิดวิกฤตที่รอข้างหน้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นนายกฯ คนนอกหรือคนในก็เกิดวิกฤตอยู่แล้วถ้าไม่มีการปรองดอง ปัญหาและสถานการณ์ก็ยิ่งจะเลวร้ายขึ้น ดังนั้นขอให้พิสูจน์กันก่อนว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามสัญญาประชาคม แม้จะเป็นนามธรรมแต่จะให้นายกฯ ใช้เวลาที่เหลือทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรม” นายจตุพรกล่าว

นายจตุพรกล่าวอีกว่า ถ้าสังคมอยู่ในความกลัวความปรองดองก็ไม่เกิดเพราะฉะนั้นต้องเริ่มจากกล้า ที่ทุกฝ่ายเห็นด้วยเพราะรักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน รักสถาบันฯ เหมือนกัน ซึ่ง 10 ข้อในร่างสัญญาประชาคมถือเป็นแค่ภาคแรก ต้องดูภาคต่อไป จะทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่คนไทยรับได้อยู่แล้ว เหมือนศีล 5 ที่คนก็เห็นด้วย แต่จากปฏิบัติได้หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผ่านมากองทัพก็เคยทำประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น นโยบาย 66/23 เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลว่ากรรมการที่ทำเรื่องนี้เป็นนายทหารแล้วจะเป็นกลางหรือไม่ ผลที่ออกมาคนไทยรับได้ ที่เหลือก็เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี หวังว่าเมื่อเกิดความปรองดองขึ้นแล้วคงจะไม่กลับไปเหมือนเดิมทหารก็ไม่ต้องเข้ามาอีก แล้วก็ไม่ต้องทำปรองดองกันอีกซ้ำอีก เนื้อหาของสัญญาประชาคม เป็นลายลักษณ์อักษรที่กว้างๆ ขั้นตอนและการปฏิบัติ ทางรัฐบาลยังมีเวลาที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ใช้เวลาหนึ่งปีกว่าๆ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องรับผิดชอบ

ทางด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการรับฟังร่างสัญญาประชาคมเห็นว่ามีการประดิษฐ์ถ้อยคำที่สวยงามซึ่งต้องดูว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร เบื้องต้นตนยังไม่ขอเเสดงความคิดเห็นเพราะต้องนำรายละเอียดของร่างสัญญาประชาคมไปพูดคุยภายในพรรคก่อน แต่เห็นว่าร่างสัญญาประชาคมดังกล่าวยังไม่ได้ลงลึกไปในรายละเอียด ที่ต้องมีการพูดถึงการเยียวยาและสาเหตุของความขัดแย้งอย่างรายงานฉบับของคณะกรรมการอิสระและตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. และรายงานฉบับของสถาบันพระปกเกล้า อย่างก็ไรตาม ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยจะให้ความร่วมมือต่อกระบวนการดังกล่าวอย่างเต็มที่

ขณะที่นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนเห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการเดินหน้าเรื่องปรองดอง ตนขอยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยกับการปรองดองโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ในส่วนร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อนั้น ตนไม่ขอวิจารณ์ แต่เชื่อว่าประชาชนที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ นั้นจะเข้าใจในวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น