เลขาธิการ ศอ.บต. เผยใช้แนวทางเสริมมั่นคง สร้างมั่งคั่ง ร่วมพัฒนายั่งยืน ชู 9 งานดี-เด่น เชื่อทิศทางจะนำไปสู่ความสันติสุข ยันไม่พบทุจริต 4 โครงการ บางส่วนมีปัญหาทางเทคนิคแก้ไขแล้ว ไม่หนักใจชี้แจงชุดใหญ่ได้ เผยจัดเวทีแจงมวลชนเพื่อหนุนคุยมาราปาตานี สวน ผบ.ตร.ยันโยงคดีฆ่า 8 ศพ กับไฟใต้ไม่ได้
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 11.05 น. นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า ศอ.บต.ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศว่าด้วย “ความเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ร่วมกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแผนปฏิบัติการ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนนโยบายและข้อสั่งการของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ที่ว่า “เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามาใช้ตามแนวทางกัลยาณมิตรแบบสันติวิธี ส่งเสริมการพูดคุยสันติสุขกับผู้มีความคิดเห็นต่างจากรัฐ สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ซึ่งเป็นพหุสังคม ขจัดการฉวยโอกาสก่อความรุนแรงแทรกซ้อน เพื่อซ้ำเติมปัญหาไม่ว่าจากผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมือง ทั้งจะเพิ่มระดับปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ และองค์การระหว่างประเทศที่อาจช่วยคลี่คลายปัญหาได้”
โดยทิศทางการดำเนินงานของ ศอ.บต.มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนกลุ่มประชาชนในพื้นที่เพื่อให้การแก้ไขปัญหา และพัฒนามีความครบถ้วน สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ภายใต้แนวทาง “เสริมความมั่นคง สร้างความมั่งคั่ง ร่วมพัฒนาสู่ความยั่งยืน” ซึ่ง “9 งานดี-งานเด่น ความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล” มีดังนี้
ด้านการเสริมความมั่นคง ประกอบด้วย งานที่ 1 “บูโด-สุไหงปาดี สันติสุขที่แท้จริงของประชาชน” บูรณาการร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระบวนการออกโฉนดที่ดินให้กับประชาชนพื้นที่โดยรอบ การสร้างความรู้และความเข้าใจที่นำไปสู่การรับรู้สิทธิและความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของที่ดินทำกิน รวมถึง การแก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน แก้ไขปัญหาเขตที่ดินทับซ้อนและแนวเขตพื้นที่ป่าที่ไม่ชัดเจน อันก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น
งานที่ 2 “การพัฒนาอาชีพเพื่อคืนคนดีสู่สังคม” เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มที่ผิดพลาด หรือสูญเสียโอกาสและพื้นที่ทางสังคม ให้ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพเพื่อการมีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสังคมและไม่หวนกลับไปมีพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมาย หรือสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้ บนพื้นฐานแนวนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ ในระยะเฉพาะหน้า ที่มุ่งเน้นการเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน
งานที่ 3 “ความร่วมมือแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ” เป็นความร่วมมือระหว่างส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกล่อลวงไปทำงานยังต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย นำไปสู่การถูกจับกุมและดำเนินคดีทางกฎหมายของประเทศนั้นๆ ในมิติใหม่การทำงานจากด้วยการ บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาและวางมาตรการป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต ฯลฯ
ด้านการเสริมความมั่นคง ประกอบด้วย งานที่ 4 “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามนโยบายรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 เป็นต้นมา นำไปสู่ความก้าวหน้าสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมโยงเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจของโลกปัจจุบัน ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีงานทำ มีรายได้และมีโอกาสการพัฒนาในมิติอื่นๆ และนำไปสู่การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อความมั่นคงที่จะขยายผลไปสู่เมืองอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด
งานที่ 5 “การสร้างนักธุรกิจเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนทั้งระบบ” เป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงานในพื้นที่ เช่น บัณฑิตเกษตร เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เพื่อเปิดพื้นที่เข้าสู่สนามการค้าและการพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ตามนโยบายการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและ ตลอดจน พัฒนาระบบการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้การออกแบบและสร้างสรรค์เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก้าวทันแนวทาง Thailand 4.0 ซึ่งสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้
งานที่ 6 “เกษตรฐานรากหัวใจการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขับเคลื่อนหัวใจสำคัญการทำเกษตรในพื้นที่ มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยว ไปสู่เกษตรผสมผสาน โดยประยุกต์แนวทางตามพระราชดำริ “เกษตรทฤษฎีใหม่” มาส่งเสริมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ การบริหารจัดการด้วยการรวมกลุ่มเกษตรกรตามแนวทาง “เกษตรแปลงใหญ่” และ “เกษตรประชารัฐ” เพื่อให้เกิดระบบการดูแลเกษตรให้มีรายได้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการต่างๆ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการส่วนกลางทำงานร่วมกันเพื่อ ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เป็นต้น
ด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย งานที่ 7 “สานพลังลูกเสือสันติสุขเพื่อการฟื้นฟูพหุสังคมที่ดีงามจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยการนำพลังเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และทัศนคติที่ดีของการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข การเรียนรู้ความแตกต่างของกันและกัน และความร่วมมือ ร่วมใจ ผ่านการลงมือทำกิจกรรมด้วยกัน ช่วยเหลือกันและกันและช่วยเหลือครอบครัว ชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดบรรยากาศการร้อยรัก สามัคคีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
งานที่ 8 “เก้าอี้สุขใจ ร้อยรักสู่ครอบครัว” นโยบายสำคัญของรัฐบาล “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” จึงเปิดโอกาสให้ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้พิการ ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกาย ผ่าน “เก้าอี้ สุขใจ” รวมทั้งการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ผู้ปกครองให้มีการทำงานในบ้าน เพื่อให้มีเวลาเพียงพอต่อการดูแลและพัฒนาศักยภาพทางด้านร่างกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนสาธารณสุขเชิงรุก ตามนโยบายการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน โดยบูรณาการข้อมูลระหว่างทุกระบบหลักประกันสุขภาพและสร้างกลไกจัดการสุขภาพในระดับพื้นที่ที่ทุกภาคส่วนมาร่วมทำงานภายใต้เป้าหมายเดียวกันและการส่งเสริมคุณภาพชีวิต และการมีเงินหรือกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อสร้างสรรค์และไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต
งานที่ 9 “จากผู้รับในวันนั้น สู่การเป็นผู้ให้ในวันนี้” เป็นการช่วยเหลือด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีจำนวนประชาชนกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก ดึงพลัง และความเข้มแข็งของผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้เพื่อไปสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบฯ อื่นๆ ให้ได้รับการช่วยเหลือและฟื้นฟูต่อไป โดยเฉพาะพลังจากสตรีและเยาวชนที่เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานเยียวยาเพื่อสันติสุขอย่างยั่งยืนจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้น การดำเนินงานทั้ง 9 งานของ ศอ.บต.จะเห็นถึงมิติการทำงานรูปแบบใหม่ ที่มุ่งเป้าหมายการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย โดยเฉพาะการทำงานเพื่อเสริมเป้าหมายความมั่นคง รวมทั้ง การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้เกิดผลดีต่อประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมี ศอ.บต.เป็นแกนกลางเชื่อมโยงการทำงาน
ขณะเดียวกัน ในมิติการทำงานเชิงรุก ศอ.บต.สามารถเข้าถึงความต้องการของประชาชนในฐานะหน่วยงานในพื้นที่ที่อยู่กับประชาชน สามารถดำเนินงานได้ก่อนและเชื่อมโยงทุกหน่วยเข้ามาร่วมกัน ภายใต้ “โครงการ กิจกรรมเชิงบูรณาการ” ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่หน่วยงานเจ้าภาพภายหลังการทำงานที่เป็นระบบแล้ว วันนี้การทำงานของ ศอ.บต.ภายใต้ความสำเร็จข้างต้น ดำเนินการไปพร้อมกับภาคส่วนต่างๆ ภายใต้แนวทาง “สานพลังประชารัฐแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนาภาคใต้” อย่างเป็นเอกภาพมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าทิศทางการทำงานในวันนี้ จะนำไปสู่การสร้างสันติสุขชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายศุภณัฐยังกล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินงานโครงการของศอ.บต.ใน 4 โครงการ ว่าทุกโครงการดำเนินการไปตามขั้นตอนและทุกโครงการราคาถูกกว่าท้องตลาด เราได้ตรวจสอบเป็นการภายในก็ไม่พบการทุจริต รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันแล้ว
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่า ทำไมเอกสารคำสั่งถึงมีการระบุ 4 โครงการในความรับผิดชอบของศอ.บต. นายศุภณัฐกล่าวว่า เป็นสิ่งที่มีคนร้องเรียนมาว่าน่าจะไม่โปร่งใส อย่างโครงการติดตั้งเสาไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ที่การจัดซื้อมีราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่กลับมีปัญหาไฟฟ้าติดๆ ดับๆ ทำให้ประชาชนคิดว่ามีการโกงหรือไม่ โดยการตรวจสอบพบว่าเกิดจากแบตเตอรี่ถูกขโมยและแบตเตอรี่ชาร์จไฟไม่เต็มเนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์มีฝุ่นและขี้นกอยู่ ขณะนี้ได้แก้ไขหมดแล้ว
เมื่อถามว่า คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ได้ขอข้อมูลมาหรือไม่ เลขาฯ ศอ.บต.กล่าวว่า ทางเราได้เตรียมข้อมูลไว้ให้แล้ว ตนไม่หนักใจและมั่นใจว่าจะชี้แจงได้ เพราะทำตามระเบียบทุกขั้นตอน งบประมาณที่ได้มาต้องมีขั้นตอนการขอ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจรับ การกำหนดทีโออาร์ เพียงแต่ว่ามีข้อบกพร่องก็ไปตรวจสอบ ยืนยันว่าของทุกอย่างเรานำของที่มีมาตรฐานและของที่มีคุณภาพมาใช้
เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ ยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ระบุว่ากรณีการฆาตกรรมยกครัว จ.กระบี่ นั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ว่า คงจะไม่สามารถโยงกันได้ เพราะลักษณะการก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีหลายรูปแบบมีการพลิกแพลงตลอดเวลา มีทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบ เรื่องส่วนตัวและเรื่องภัยแทรกซ้อน อย่างกรณีที่ยิงนายก อบต.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ที่ทุกคนเข้าใจว่าเป็นเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ แต่ข้อเท็จจริงเป็นการขัดแย้งเรื่องส่วนตัว
เมื่อถามว่า คิดว่าคนร้ายที่ จ.กระบี่ มาจากซุ้มมือปืนในจังหวัดชายภาคแดนใต้หรือไม่ นายศุภณัฐกล่าวว่า ไม่แน่ใจ แต่ในพื้นที่ภาคใต้มีซุ้มมือปืนหลายซุ้ม
นอกจากนี้ นายศุภณัฐยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขว่า ในส่วนของ ศอ.บต.นั้นทำตามคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่ง ศอ.บต.จะร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทำพื้นที่ให้เอื้อต่อการพูดคุยซึ่งเราดำเนินการไปหลายวิธี มีการจัดเวทีทุกเดือนเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจว่าการฆ่ากันไม่สามารถยุติปัญหาได้ เพื่อจะสร้างพลังมวลชนในพื้นที่เพื่อหนุนในการพูดคุยกับมาราปาตานี