“สุริยะใส” ชี้เดิมพันปฏิรูปตำรวจสูงกว่าทุกครั้ง ถ้าทำไม่ได้ ปชช.หมดหวัง เหตุ 36 อรหันต์มาจาก รธน.แนะจับตากระะบวนการ-เนื้อหาการตั้งโจทย์ ห่วงกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด
วันนี้ (9 ก.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจทั้ง 36 คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 นั้นมีสถานะพิเศษ เพราะเป็นครั้งแรกที่บัญญัติเรื่องการปฏิรูปตำรวจไว้ในรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ ภารกิจและกรอบเวลาไว้ชัดเจน
ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่คณะกรรมการชุดนี้จะถูกคาดหวังสูงจากประชาชน ที่สำคัญประเด็นการปฏิรูปตำรวจก็ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนลำดับต้นๆ ที่สังคมอยากเห็น เดิมพันปฏิรูปตำรวจครั้งนี้จึงสูงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา และถ้าครั้งนี้ทำไม่สำเร็จ ก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังได้อีก
ในขณะเดียวกัน กรอบเวลาที่เหลือ 8-9 เดือนก็ไม่น้อยจนเกินไปเพราะมีงานวิจัยมีข้อเสนอเดิมไว้มากมายอยู่แล้ว แต่จุดที่ต้องจับตาคือกระบวนการทำงานและการกำหนดประเด็นหรือการตั้งโจทย์พิจารณา เพราะถ้าออกแบบผิด หรือตั้งโจทย์ผิดก็เหมือนกลัดกระดุมเม็ดแรกผิดไปด้วย
โดยเฉพาะกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญก็ต้องมีความขัดเจน รวมทั้งการรับฟังตำรวจชั้นผู้น้อยหรือชั้นประทวนก็ควรมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ด้วย ในส่วนการกำหนดประเด็นและเนื้อหานั้น แนวทางที่นายกฯพล.อ.ประยุทธ์ ชี้แนะไว้ก็ถือว่ามาถูกทางคือการปฏิรูประดับโครงสร้าง สตช. เช่น การกระจายอำนาจให้ยึดโยงกับจังหวัดและท้องถิ่น การแยกอำนาจสอบสวนให้มีความเป็นอิสระน่าเชื่อถือ การพิจารณาอัตรานายพลที่มีมากเกินจำเป็น ฯลฯ เพราะนี่เป็นต้นเหตุของปัญหาใน สตช.
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญหมวดปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ก็ระบุไว้ชัดว่าต้องทำให้งานด้านสอบสวนมีความน่าเชื่อถือและให้นำระบบนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในงานสอบสวนพิสูจน์หลักฐาน โดยกำหนดให้มีมากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่เป็นอิสระจากกันเพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้เสียหายด้วย เมื่อตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม การปฏิรูปตำรวจจึงต้องสร้างแรงส่งให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมด้วย